การบูรณาการการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ก้าวแรกที่สำคัญของโรงเรียนบ้านโคกนิบง

7 กุมภาพันธ์ 2565

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี มีสถานศึกษานำร่องที่พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวและบอกเล่าประสบการณ์ดีๆ ในการจัดการเรียนการสอนมากมาย ซึ่งสำหรับในครั้งนี้ คือ โรงเรียนบ้านโคกนิบง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 ตั้งอยู่ที่ ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในบริเวณของชุมชนที่มีวิถีชีวิตแห่งการประกอบอาชีพที่ผสมผสานกันระหว่างแบบดั้งเดิม คือ เกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ และคนวัยหนุ่มสาวที่มีอาชีพเน้นไปที่การรับจ้างเป็นหลัก บริบทดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแห่งนี้อย่างไรนั้น โปรดติดตามต่อไป

จากการสัมภาษณ์นางมาริย๊ะ  กอเสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกนิบง ได้กล่าวถึงการดำเนินการไว้ว่า โรงเรียนบ้านโคกนิบงเริ่มสู่การใช้นวัตกรรมเมื่อปีการศึกษา 2563 โดยจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นในส่วนของกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 จะเป็นการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย (RBL: Research-Based Learning) และยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่นำมาบูรณาการ คือ กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) จะเป็นกิจกรรมที่เน้นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เช่น การสำรวมและฝึกสมาธิ ความสามัคคี มีวินัย รวมถึงคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ โดยกิจกรรมนี้จะทำก่อนเริ่มกิจกรรมในการเรียนการสอนทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อนไปสู่การเรียนรู้ นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยเช่นกัน

   

 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ในส่วนของบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งเน้นลงมือปฏิบัติจริงด้วยการทดลอง การตั้งคำถาม การสังเกต ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลาย โดยแบ่งออกเป็นระดับ ซึ่ง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะเป็นเรื่องของการทำกาวรีไซเคิล ประถมศึกษาปีที่ 2 จะเป็นเรื่องของการเพาะปลูกอย่างง่ายๆ ประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นการเพาะถั่วงอกกับผักบุ้ง ซึ่งหลังจากการเรียนการสอน นอกจากนักเรียนได้เรียนรู้การฝึกทักษะกระบวนการแล้ว นักเรียนก็จะมีผลผลิตกลับไปสู่ชุมชน อาจไม่ถึงกับนำไปวางขาย แต่อย่างน้อยก็นำมารับประทานหรือประกอบอาหารได้ ซึ่งปกติผู้ปกครองมีอาชีพเพาะปลูกอยู่แล้ว จึงทำให้นักเรียนรู้สึกรักการเกษตรและรู้จักการประหยัดในชีวิตประจำวันมากขึ้น และในปลายปีจะมีกิจกรรม Open House โดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับนักเรียนอีกด้วย

การเชื่อมโยงจากกิจกรรมสู่สาระการเรียนรู้ต่างๆ นั้น สามารถบูรณาการไปยังสาระการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น กระบวนการการเพาะถั่วงอก คณิตศาสตร์ เช่น การซื้อขาย การนับต้น การจดบันทึกจำนวน ภาษาไทย เช่น ในการเพาะถั่วงอก มีคำศัพท์อะไรบ้าง ภาษาอังกฤษ เช่น การสอนศัพท์พื้นฐานการเพาะปลูก หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ของพืชพันธุ์ต่างๆ

   

สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 ซึ่งเป็นส่วนของโครงงานฐานวิจัย ในภาคเรียนที่ 1 จะเน้นไปที่การศึกษาเรียนรู้ในชุมชน เช่น การเรียนรู้การทำถ่านจากทะลายปาล์ม การอัดบด การทำไร่ทำนา ซึ่งนักเรียนจะได้ทักษะของการสร้างอาชีพ ถึงแม้อาจไม่ได้ครอบคลุมถึงนักเรียนทุกคน แต่อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนที่สนใจหรือมีวิถีชีวิตที่เติบโตท่ามกลางการปลูกปาล์ม สำหรับภาคเรียนที่ 2 จะเน้นไปที่การทำขนม หรือโครงงานเกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะในนักเรียนหญิง ที่จะสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันต่อไปได้ ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กสทช. ในส่วนของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้นักเรียนได้รับความสะดวกในการค้นคว้าหาความรู้ เช่น การดัดแปลงสูตรอาหารให้ได้รสชาติแปลกใหม่ ที่ผู้ปกครองชอบรับประทาน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้จะมีทีมงานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ให้คำแนะนำว่าควรเป็นในทิศทางใดหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

หากจะกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ในชุมชนนั้น ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับสภาพบริบทการประกอบอาชีพในชุมชนตามที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น โดยนักเรียนมีการไปเรียนรู้ในสถานที่ต่างๆ เช่น ทุ่งนา สวนยางพารา ไปดูการเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงแพะ ดูการผสมเทียมวัว ซึ่งจะมีเกษตรกรคอยให้ความรู้ รวมถึงครูในโรงเรียนบางท่านที่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม ก็เอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อการเรียนรู้ เช่น การเลี้ยงไก่ โดยที่นักเรียนจะมีโอกาสทดลองลงมือทำด้วยตนเอง มีการไปเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ให้ความรู้โดยผู้ที่ประกอบอาชีพด้านนี้จริงๆ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกรรมการสถานศึกษาอีกด้วย ทั้งยังมีการเชิญปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ปกครองของนักเรียนที่มีอาชีพต่างๆ เช่น การค้าขาย มาร่วมกันสร้างองค์ความรู้เช่นกัน

การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านโคกนิบง เมื่อกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านของนักเรียนนั้น พบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้น เมื่อได้รับโอกาส เช่น การจัดเวทีให้แสดงออก หรือการทำโครงงาน จะมีการจัดกลุ่มทำงาน แจกแจงหน้าที่มีตำแหน่งอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นประธานกลุ่ม เลขานุการประจำกลุ่ม หรือสมาชิกกลุ่ม แต่ละคนก็จะช่วยกันทำตามหน้าที่ที่รับผิดชอบสำหรับการนำเสนองาน ซึ่งทำให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ มีความขยันในการมาเรียนเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการแก้ปัญหาด้วยการเอาใจใส่ของครู ให้โอกาสนักเรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ จากนักเรียนที่ไม่ยอมเข้าเรียน ก็เริ่มกลับสู่ห้องเรียน อีกทั้งยังพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น และในการทดสอบระดับชาติ มีหลายสาระการเรียนรู้ที่ผลคะแนนสูงในระดับเขตพื้นที่การศึกษาอีกด้วย

สำหรับนักเรียนอีกกลุ่มที่มองข้ามไปไม่ได้ คือ กลุ่มนักเรียนที่เรียนรู้ช้า ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน ที่ชัดเจนที่สุด คือ ในการทำงานเป็นกลุ่มนั้น จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารอยู่บ้าง แต่ก็สามารถเข้าใจถึงกิจกรรมหรือสิ่งที่ทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรม open house นักเรียนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักในการสร้างสีสัน เช่น การแสดงบทบาทสมมติ ซึ่งจะร่วมแรงร่วมใจทำกันอย่างเต็มที่

เมื่อมีผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ก็ย่อมมีผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งสิ่งแรกที่เห็นได้เด่นชัดคือ ผู้ปกครองจะพบว่าบุตรหลานของตนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี จึงเกิดความพึงพอใจ และไว้วางใจในวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน นอกจากนั้น ชุมชนก็ให้ความร่วมมือในการสนับสนุน ให้การช่วยเหลือในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ หากโรงเรียนมีกิจกรรมที่จะต้องทำในตอนกลางคืน ก็จะมี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) เข้ามาอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยด้วยใจที่เต็มร้อย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านของครู จากการเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี และแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทำให้ครูเริ่มตระหนักว่า จะจัดการเรียนการสอนในแบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว เพราะครูต้องเปลี่ยนบทบาทให้เป็นไปในลักษณะของ trainer มากขึ้น ซึ่งจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้คือคุณภาพ แต่วิธีการจะทำอย่างไรนั้นอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งในส่วนของโครงงานฐานวิจัยนี้เองที่จะนำไปสู่จุดหมายและสามารถตอบโจทย์ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า นักเรียนนั้นจะสามารถสร้างองค์ความรู้ หรือคิดได้ด้วยวิธีการของตนเอง

นางมารีย๊ะ กล่าวว่า สิ่งที่ตนภาคภูมิใจนั้น คือ มีทีมงานที่ใจสู้ เข้มแข็ง แม้จะเกิดอุปสรรคจากโรคระบาด ต้องประชุมผ่านระบบออนไลน์ ไม่สามารถพบปะพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวได้ แต่ครูก็มีความพยายามในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ และทางโรงเรียนมีครูท่านหนึ่งซึ่งมีความคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นอย่างดี จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของโรงเรียน ในการขอคำปรึกษาหรือแนะนำในด้านต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น และสำหรับสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป นอกจากความต้องการในการต่อยอดกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยและโครงงานฐานวิจัยแล้วนั้น จะมีการพัฒนาในส่วนของกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงความต้องการในการทำ PLC ให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมองว่าขณะนี้ยังน้อยเกินไป และการส่งเสริมให้ครูมีทักษะความสามารถในเรื่องของการวิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะการทำวิจัยในชั้นเรียน

แม้โรงเรียนบ้านโคกนิบงจะเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องด้วยระยะเวลาเพียงไม่นาน ถึงจะพบเจอปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของการริเริ่มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น พร้อมฟันฝ่าอุปสรรคให้ไปสู่จุดหมาย การดำเนินการกิจกรรมและการจัดการเรียนการสอน สามารถแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมออกมาได้มากมายหลายด้าน นักเรียนสนุกกับการลงมือทำ ผู้ปกครองไว้วางใจ ชุมชนให้การสนับสนุน ปีการศึกษาที่ผ่านมามีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น เราจึงขอส่งกำลังใจให้โรงเรียนบ้านโคกนิบง เพื่อพัฒนาระบบกระบวนการการทำงาน เพื่อพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้สถานศึกษาอื่นๆ ที่กำลังเดินทางด้วยก้าวย่างแห่งความตั้งใจเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ โดยมีแบบอย่างที่ดีหรือกรณีศึกษามากมายให้เลือกสรรและใช้สอยประโยชน์ ทั้งจากสถานศึกษานำร่องที่อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมศึกษาจังหวัดอื่นๆ หรือในพื้นที่นวัตกรรมศึกษาจังหวัดปัตตานี และแม้กระทั่งโรงเรียนบ้านโคกนิบงแห่งนี้นี่เอง

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
    


ผู้เขียน : ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์ : มารีย๊ะ กอเสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกนิบง
ผู้สัมภาษณ์ : ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร  แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนบ้านโคกนิบง

Facebook Comments
EduSandbox.com เปิดวงสนทนา การขอเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดใหม่BANNONGWAI MONTESSORI SCHOOL
บทความล่าสุด