โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยากับนวัตกรรม 9 แผนการเรียนบูรณาการสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)

14 มิถุนายน 2564

โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง เปิดสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน จำนวน 855 คน ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา จำนวน 53 คน ตั้งอยู่เลขที่ 9/33 หมู่ที่ 3 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เข้าร่วมเป็นสถานศึกษาในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง รุ่นที่ 2

เป้าหมายการพัฒนานักเรียน

นายปรีชา นาคศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพรักษมาตาเปิดเผยว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในบริบทของพื้นที่ ท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ บ้านเพและอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก ประกอบกับจังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) และเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยาในบทบาทของหน่วยงานทางการศึกษาที่จะต้องขับเคลื่อนการศึกษา ไปสู่เป้าหมายที่ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด จึงกำหนดเป้าหมายในการพัฒนานักเรียน แบ่งเป็น 2 ระดับชั้น กล่าวคือนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต้องค้นพบตนเองและเลือกเรียนต่อหรือประกอบอาชีพตามความชอบและความถนัดของตนเอง ส่วนนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องได้เลือกเรียนตามความถนัดและความชอบของตนเองเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาที่สูงขึ้น ทั้งในระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพหรือการออกไปประกอบอาชีพ ดังนั้นโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา จึงมีการปรับหลักสูตรสถานศึกษาและออกแบบแผนการเรียนมากถึง 9 แผนการเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือ หรือช่องทางในการค้นหาและฝึกประสบการณ์ทางวิชาการ วิชาชีวิต และวิชาชีพ อย่างหลากหลาย

นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยาส่วนใหญ่ร้อยละ 95 จะศึกษาต่อในระดับ ที่สูงขึ้นทั้งในระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาต่อสายอาชีพ และประมาณร้อยละ 5 ประกอบอาชีพอิสระ

การปรับโฉมใหม่ของโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา

โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยาได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ในการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรที่วัดผลเป็นสมรรถนะมาใช้ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการ จัดการเรียนรู้ของโรงเรียนให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในปีแรกนี้โรงเรียนยังคงวิชาพื้นฐานเดิมไว้ตามปกติ แต่ได้ออกแบบนำวิชาเพิ่มเติมของแต่ละแผนการเรียนมาเป็นรายวิชาที่วัดความสำเร็จเป็นสมรรถนะ โรงเรียนมีแผนการเรียนทั้งสิ้น 9 แผนการเรียน แต่ละแผนการเรียนมีรายวิชาเพิ่มเติมประมาณ 5-6 รายวิชา การออกแบบครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างสมรรถนะให้กับนักเรียน รายละเอียดแผนการเรียน

เมื่อกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการของแต่ละแผนการเรียนแล้ว ครูผู้สอนได้มาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เป็นแบบบูรณาการ และใช้รูปแบบการสื่อสารระหว่างผู้บริหารบริหาร ทีมวิชาการ และทีมแผนการเรียนอื่นๆ ได้เห็นภาพการจัดการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน โดยใช้ Google Calendar ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นของกูเกิล (Google) และกำหนดนัดหมายเปิดบ้านการเรียนรู้โรงเรียนเพรักษมาตาครั้งที่ 1 ในสัปดาห์ที่ 10 ของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยนักเรียนทุกแผนการเรียนจะนำเสนอผลการเรียนรู้และนำเสนอช้ินงานที่แสดงให้เห็นสมรรถนะต่างๆ ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนให้โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยาได้มองเห็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

 


 


ผู้เขียน: ปรีชา นาคศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ธนาศักดิ์ แสนสุภา, รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
คณะศึกษาศาสตร์ มช. รายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน ของโครงการกลไกขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่รมว.ศธ. แจงแผนฯ สร้างพื้นที่ทดลองหลักสูตรให้มีความหลากหลาย
บทความล่าสุด