รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) เป็นประธานเปิดงาน All for Rayong Education 2019 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

2 กันยายน 2562

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานเปิดงาน All for Rayong Education 2019 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง ได้ให้แนวคิดในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สาระสำคัญที่รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) ได้ให้แนวคิดแนวทางต่อที่ประชุม มีดังนี้

1. เป้าหมายของการใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษาคือ ต้องการคนดี คนเก่ง มีงานทำ และมีความสุข ซึ่งการศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างคนให้มีคุณภาพ คำว่าการศึกษา ไม่ใช่เพียงการได้ใบประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร หรือระดับการศึกษา แต่การศึกษาจะต้องสร้างคุณค่าและความเจริญงอกงามของชีวิต ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสร้างคนเพื่อให้คนสร้างชาติ

2. กระบวนการเรียนรู้ในการศึกษาเพื่อสร้างคน เริ่มต้นที่ครอบครัว การที่พ่อแม่สอนโดยผ่านการปฏิบัติในวิถีชีวิตปกติ ได้ช่วยให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่น สมัยก่อนพ่อจะสอนขี่ควาย แม่สอนตำข้าว ลูกๆ จะได้เรียนรู้ ทำเป็น และมีความสนุกสนานในการเรียนรู้ ขณะรับประทานอาหารก็ได้เรียนรู้การรอคอยพ่อเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน การแบ่งปัน การถามสารทุกข์สุกดิบและให้คำปรึกษาเรื่องการทำงานและการดำรงชีวิตระหว่างกัน ตอนค่ำก็นอนหนุนตักพ่อแม่และฟังนิทานที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง ดังนั้น การศึกษาของเด็กจึงเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากพ่อแม่ มีพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เมื่อมีโรงเรียน เป็นสถานที่ให้เด็กเรียนเขียนอ่านหนังสือ และพ่อแม่ไม่มีเวลาสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพให้ลูก ขณะเดียวกันการจัดการศึกษาในโรงเรียนอาจไม่ได้ตระหนักให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างทักษะชีวิต จึงทำให้เด็กบางคนเติบโตขึ้นไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

3. ความคาดหวังของสังคม หวังว่าเด็กควรจะได้เกิดในครอบครัวที่ดี อยู่ในบ้านซึ่งสามารถให้การเลี้ยงดูและเป็นโรงเรียนแห่งแรกให้กับลูกได้ การจะสร้างครอบครัวให้มีลักษณะดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน เมื่อเด็กเข้าเรียนก็ต้องการโรงเรียนที่ดีและเด็กอยากไปโรงเรียน ดังนั้น ครูจะต้องรู้จักวิธีปฏิบัติให้เด็กรู้สึกอบอุ่นไว้วางใจ ให้รู้สึกว่าครูเป็นดั่งพ่อแม่ เมื่อจบการศึกษาก็คาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงาน และได้ทำงานที่ดี

4. ในสภาพความเป็นจริง แต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียน มีสภาพภูมิสังคมแตกต่างกัน เช่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรม มีสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ที่แตกต่างกัน แต่ก็พบว่าหนังสือเรียนให้เด็กอ่าน “ตามารถไฟ” “ไปทะเล” เด็กที่อยู่ในภูมิภาคที่ไม่มีรถไฟผ่าน ไม่อยู่ใกล้ทะเล ก็จะนึกภาพไม่ออก ดังนั้น การบริหารจัดการการศึกษาจึงจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ และแก้ปัญหาการศึกษาของพื้นที่ แต่การแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ผ่านมาจะใช้การออกหลักเกณฑ์ ออกกฎหมาย เช่น ออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ที่อ่านเข้าใจง่าย แต่ปัญหาคือ ยังไม่ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังครบถ้วน นอกจากการออกระเบียบข้อกฎหมายแล้ว การแก้ปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่างกันที่ผ่านมากลับใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดียวกัน เช่น ครั้งหนึ่งมีปัญหาการอ่าน ให้เลิกใช้วิธีการอ่านแบบแจกลูก-สะกดคำ และมาส่งเสริมให้ใช้วิธีสอนอ่านแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษา (มปภ.) ผ่านมาช่วงเวลาหนึ่งก็พบว่า ไม่ได้แก้ปัญหาการอ่านของเด็ก จึงกลับไปใช้การสอนอ่านแบบแจกลุก-สะกดคำ อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการเรียนรู้เรื่องศาสตร์การสอนในวิชาชีพครู จะเห็นว่า วิธีการสอนที่ดีที่สุด คือ วิธีการสอนที่ครูถนัดและถูกจริตนักเรียนและครู ดังนั้น จึงควรให้ครูและพื้นที่คิดเองทำเอง การศึกษาจึงไม่ใช่การตัดเสื้อตัวเดียว หรือ One-size-fits-all จึงเป็นที่มาของ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

5. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีคำสำคัญ 3 คำ คือ “พื้นที่ – นวัตกรรม – การศึกษา” การศึกษาคือ ความเจริญงอกงามของชีวิตเด็ก คำว่าพื้นที่ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะหมายถึงครอบครัว หรือโรงเรียน แต่คำว่าพื้นที่ ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 หมายถึง อาณาเขตจังหวัด และพื้นที่ปฏิบัติการ ก็คือ พื้นที่โรงเรียน หรือหมายถึง “พื้นที่จังหวัด ปฏิบัติการที่โรงเรียน” เป็นการเปิดโอกาสให้พื้นที่ได้คิดเองทำเอง ส่วนนวัตกรรม หมายถึง สิ่งที่เรากำหนดขึ้นมาแล้วสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ บางโรงเรียนได้นำแนวคิดแนวทางหรือนวัตกรรมที่อาจสำเร็จในโรงเรียนอื่น จากที่อื่น มาใช้ในโรงเรียนของตน แต่กลับพบว่าเมื่อนำมาใช้แล้วเกิดปัญหา คุณภาพผู้เรียนไม่ดีขึ้น หรือเกิดปัญหากับผู้ปกครอง สิ่งที่นำมาใช้นี้ไม่ใช่นวัตกรรม หากเป็นนวัตกรรม เช่น กรณีโรงเรียนหนึ่งสังเกตเห็นว่าระหว่างเปิดเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ และผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องกลับไปกรีดยางที่ต่างจังหวัด นักเรียนก็ต้องติดตามผู้ปกครองไปด้วยและต้องหยุดเรียนเป็นจำนวนมาก โรงเรียนจึงปรับการเปิด-ปิดโรงเรียนใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพบริบท หรือบางโรงเรียนปรับหลักสูตรใหม่ไม่สอนเป็นวิชา แต่สอนเป็นหน่วยการเรียนรู้ เช่น หน่วยกินดีมีสุข เป็นการบูรณาการหลายวิชาเข้ามา เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก หรือปรับตารางสอนใหม่ เป็นภาคเช้าเรียน “วิชาหลัก” ภาคบ่ายลงชุมชน พาเด็กเรียน “วิชาเล่น” โดยบูรณาการมาตรฐานหลักสูตรผ่านการศึกษาเรียนรู้ชุมชน จากภูมิปัญญาในท้องถิ่นรอบโรงเรียน แล้วให้เด็กได้คิด ได้วิพากษ์ ได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

6. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มีการดำเนินการกันเอง มาก่อนที่ยังไม่มี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อมี พ.ร.บ. แล้ว สามารถนำสิ่งทีเป็นอุปสรรคปัญหาในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ช่วย “ปลดล็อก” ได้ เช่น ไม่ต้องการทำโครงการที่ส่งผลเสียต่อการเรียนของนักเรียน ก็สามารถเสนอขอยกเลิกได้ หรือหากมีโครงการใหม่เข้ามาต้องร่วมพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อให้การอนุญาต หากเป็นโครงการที่ตรงตามความต้องการของโรงเรียน หรือไม่เป็นภาระอุปสรรคก็สามารถรับเข้ามาดำเนินการในโรงเรียนนำร่องได้ หากต้องการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาแนวใหม่ก็ทำได้ ต้องการจะปรับตารางเรียน/ตารางสอนแบบใหม่ก็สามารถทำได้ หรือจะปรับเปลี่ยนเวลาเรียน/ การเปิด-ปิดเทอมแบบใหม่ที่แก้ไขปัญหาของเด็กและผู้ปกครองในพื้นที่ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนต่างๆ ต้องอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ตั้งอยู่ใกล้เขา มีช้าง เน้นพลังงานสะอาด จัดหลักสูตรและการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียนรู้ ใช้ครูในชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาช่วยสอน ดังนั้น จะเห็นว่า โรงเรียนจะต้องเปิดกว้าง เปิดรับภาคีทุกภาคส่วน โรงเรียนจะต้องระบุปัญหา สาเหตุ และวิธีการแก้ ซึ่งวิธีการแก้ไขนี้เองก็คือ นวัตกรรม

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องร่วมคิดร่วมทำ อย่างมีความสุข เพื่อสร้างคนดี คนเก่ง และมีความสุข ตรงตามความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งครูคนเดิม งบประมาณที่มี แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ เปลี่ยนความคิด “แค่เปลี่ยนความคิดชีวิตยังเปลี่ยน หากเปลี่ยนการกระทำจะมีผลต่อชีวิตเรามากเพียงใด” เมื่อลงมือทำในสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จะเกิดความรู้สึกขัดแย้ง หรืออยากจะหนีปัญหา หากเราเปลี่ยนความคิด มองเห็นว่าปัญหาคือบ่อเกิดของปัญญา เมื่อประสบกับปัญหามากก็ได้ใช้ปัญญามาก การได้ใช้ปัญญาคือการศึกษาที่แท้จริง


รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 11.jpg

ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: พลกฤต แสงพลอย

Facebook Comments
เลขานุการ รมว.ศธ. เปิดสมัชชาการศึกษาสตูล ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม ร่วมกับ 22 ภาคีเครือข่ายเลขานุการ รมว.ศธ. หนุนพื้นที่นวัตกรรม นำข้อค้นพบจากการปฏิบัติจริง สู่การปรับแก้กฎระเบียบที่ล้าสมัย
บทความล่าสุด