จากความไม่รู้สู่... รอยยิ้มแห่งความสุข ของนักเรียนขณะเรียนและทำกิจกรรม ความปรารถนาสูงสุด และได้สมหวังของครูมาริสา ครู รร.บ้านทุ่งสภากาชาดฯ หนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

20 กุมภาพันธ์ 2563

“เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้จักพื้นที่นวัตกรรม เราไปรับนโยบายไปกับ ผอ. และครูอีกสามคน”

นั่นคือความรู้สึกของครูมาริสาเมื่อตอนตนเองเริ่มเข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แล้วปัจจุบันนี้ครูมาริสาความรู้สึกเป็นอย่างไร ครูมาริสากล่าวด้วยวาจาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขว่า

“ตอนนี้ครูมีความภาคภูมิใจและมีความสุขเพราะสิ่งที่ปรารถนาที่สุดและได้สมหวังแล้ว คือ แววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของนักเรียน รอยยิ้มของนักเรียนในขณะเรียน ถือว่าตอบโจทย์แล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของนักเรียน จากการที่เด็กไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นเด็กกล้าแสดงออก เช่น การยืนพูดหน้าห้องเรียนเมื่อก่อนจะมีอาการสั่นประหม่า แต่ตอนนี้นักเรียนไม่มีความประหม่าให้เห็นเลย”

ครูมาริสาเล่าให้ฟังถึงที่มาถึงสิ่งที่ทำจนทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้อย่างคร่าวๆ ตั้งแต่ตอนไปกับผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อไปรับนโยบาย ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้จักพื้นที่นวัตกรรม หลังจากกลับมาผู้อำนวยการโรงเรียน ก็เรียกประชุมมาทำงานที่โรงเรียน เขียนแผนงานโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีเครือข่ายผู้ปกครอง ร่วมด้วย เริ่มได้ทุนสนับสนุนต่าง ๆ จัดทำเป็นข้อมูลโรงเรียนและทำหลักสูตรภูมิปัญญา ภูมิสังคม ทำโครงงานฐานวิจัยโดยทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม ในหลักสูตรแกนกลาง 8 วิชา เพิ่มวิชาโครงงานฐานวิจัย สัปดาห์ละ 6 ชม. ในเทอมนี้ใช้ช่วงบ่ายวันอังคารและวันพุธ เทอมที่แล้วเป็นวันอังคารและวันพฤหัสบดี คุณครูทุกคนในโรงเรียนร่วมกันทำทั้งหมด โดยเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนละ 2 คน มีครูสามเส้า แต่ละห้องเลือกโจทย์ศึกษาเรื่องใกล้ตัว แล้วเลือกโจทย์ที่ชอบที่สุดห้องละ 1 โจทย์ ตอนศึกษาไปหาชุมชนในหมู่บ้าน แล้วก็ดึงการมีส่วนร่วมจากภูมิปัญญาของชุมชนมาช่วย จัดกิจกรรม 3 เส้า คือ ครูผู้สอน ครูจากชุมชน ครูผู้ปกครอง เป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนนักเรียน เช่น ครูมาริสา (ผู้ให้สัมภาษณ์) เป็นครูประจำชั้น ป.2 ทำเรื่องสกัดสี ทำผ้ามัดย้อม จะออกไปบ้านภูมิปัญญา ผู้ปกครอง นักเรียน วิทยากรพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยทักษิณและน้องๆ วิทยากรจาก สกว. ในการทำกิจกรรมจะมีเครือข่าย 10 โรงเรียน และมีกิจกรรมร่วมกันอยู่เป็นประจำ

ครูและบุคลากรของโรงเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาโดยหน่วยงาน สกว. จะมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาโครงงานฐานวิจัย และมีอีกหน่วยงานมาร่วมพัฒนาด้วย คือ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มาช่วยในเรื่องทำโปรแกรม class start (ช่วยระบบการจัดการเรียนรู้) ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยเรื่องการเรียนรู้ทุกวิชา โดยจัดทำเป็น โครงร่างมาแล้วครูใส่กิจกรรมเข้าไปและให้นักเรียนเข้าไปทำงานในระบบ โปรแกรมนี้จะให้นักเรียนทำกิจกรรมในระบบคอมพิวเตอร์ โดยครูจะจัดช่วงเวลาและนัดหมายช่วงเวลาการเข้าตรวจงานและดูงานในระบบ เช่น ให้นักเรียนทำกิจกรรมสำรวจในชุมชน และกำหนดช่วงเวลาการส่งงาน

โรงเรียนมีวิธีการร่วมพัฒนาการสอนของครู โดยครูจะทำ PLC ในลักษณะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนของแต่ละคน ในทุกวันศุกร์ช่วงบ่าย 3 ชม. ใช้ระบบครู 3 เส้า ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก ภายในสัปดาห์ต่อไปนำข้อเสนอแนะจากวง PLC มาวางแผนว่าจะทำอะไร จากความคิดเห็นเสนอแนะของเพื่อนและวางแผนการดำเนินงานต่อไป

ในส่วนของการวัดประเมินผล ครูมาริสาสะท้อนว่าถือเป็นจุดบอดมาก เนื่องจากเปิดเป็นวิชาเพิ่มเติมจะใช้การสังเกต ยังไม่ชัดเจน ซึ่งใน 10 โรงเรียนปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าทุกโรงเรียนจะดูแลตัวเองกันก่อน ไม่ให้กระทบสาระหลักในวิชาปกติ ซึ่งประเมินปกติ 70/30 คือ คะแนนเรียนเก็บระหว่างเรียนร้อยละ 70 และใช้การสอบอีก 30 ส่วนสาระเพิ่มเติมโครงงานฐานวิจัยจะดูในลักษณะของการนำเสนอ เช่น สรุปรายงานนำเสนองานให้ร้อยละ 30 ส่วนอีก 70 จะใช้วิธีดูจากพฤติกรรมการร่วมกิจกรรม การให้ความร่วมมือกับเพื่อนระหว่างเรียน ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุม

การได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงเรียนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เห็นได้จากทุกครั้งที่มีกิจกรรมอบรมสัมมนาที่เป็นประโยชน์กับครู ผู้อำนวยการจะส่งเสริม และบริหารจัดการให้เกิดความสะดวกและดูแลทั้งหมด เพื่อให้ครูได้ไปร่วมประชุมตลอดอย่างสบายใจ การประสานความร่วมมือกันของครูในโรงเรียนซึ่งจะเห็นว่าครูทุกคนถึงแม้จะเป็นครูอาวุโสมากแต่ก็ให้ความร่วมมือ ทำงานจับคู่กันไปครูที่มีอายุน้อยกับครูอาวุโส ผู้อำนวยการโรงเรียนจะใช้คำว่า “รุ่นน้องประคองพี่” โดยครูอาวุโสใช้ประสบการณ์ และความเป็นครูที่มีลูกศิษย์จบการศึกษาไปแล้วในการประสานงานกับลูกศิษย์ให้มาช่วยในการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ให้รุ่นน้อง ส่วนครูอายุน้อยจะเก่งและช่วยเรื่องการใช้เทคโนโลยีก็จะเสริมหนุนกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

เสียงสะท้อนจากครูมาริสาเป็นอีกหนึ่งภาพแห่งความสำเร็จที่สวยงามที่เกิดขึ้น เป็นแสงสว่างที่ช่วยจุดประกายความหวังและเติมพลังแรงใจให้กับเพื่อนครูร่วมอาชีพทุกคนที่มุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาการศึกษาของชาติให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


ผู้เขียน: สุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล
ผู้ให้สัมภาษณ์: มาริสา รังสรรค์
ผู้สัมภาษณ์: สุดจิตร์ ไทรนิ่มนวล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: มาริสา รังสรรค์

Facebook Comments
สบน. เสนอ “ผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ว่าฯ ปัตตานีเดินหน้าเต็มที่ ดึงพลังทุกภาคส่วน ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงาน ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมฯ
บทความล่าสุด