Checklist 4 ประเด็น เร่งรัดใน 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.63) เพื่อให้เขตเป็นเจ้าภาพร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม เตรียมโรงเรียนนำร่องให้พร้อมก่อนเปิดเทอม

3 มกราคม 2563

หลังจากที่ สพฐ. ได้แจ้งโอนจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 30 เขต เพื่อให้ สพท. ระดมสรรพกำลังหนุนเสริมโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เร่งปรับหลักสูตรและขับเคลื่อนกิจกรรมที่จำเป็น ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2563 ดังรายละเอียดที่นี่ https://bit.ly/2roCXGO

มีข้อคำถามจากทีมแกนนำ/บุคลากรหลักของเขตพื้นที่ว่า งบประมาณที่ สพฐ. จัดสรรให้เขตพื้นที่นี้ สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมลักษณะใดบ้าง เช่น นำไปใช้จัดประชุมสร้างการรับรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ได้หรือไม่ นำไปใช้ในการพาครูไปศึกษาดูงานได้หรือไม่ นำเงินที่ได้มาหารด้วยจำนวนโรงเรียนแล้วส่งให้โรงเรียนไปดำเนินการเองได้หรือไม่ ฯลฯ

สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) จึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมตั้งประเด็นคำถามในเบื้องต้น เสมือนเป็น Checklist เพื่อประกอบการพิจารณาของ สพท. ว่า จะใช้ในกิจกรรมใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการเตรียมโรงเรียนนำร่องให้พร้อมมากที่สุดในการปรับเปลี่ยนโรงเรียนดังที่ พ.ร.บ. เปิดโอกาสให้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาได้ และให้โรงเรียนพร้อมรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563

ประเด็นที่ สพท. จะต้องดูข้อมูลโรงเรียนและปรึกษาหารือกับโรงเรียนก่อนว่า โรงเรียนได้ดำเนินการ ในเรื่องที่มีความสำคัญจำเป็นและจะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แล้วหรือไม่ โดยอาจพิจารณาจากประเด็นเบื้องต้นเหล่านี้

1. ความพร้อมด้านหลักสูตรสถานศึกษา

โรงเรียนมีหลักสูตรที่ได้รับการปรับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. มาตรา 20(4), 25, 26 (รับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเด็กนักเรียน) และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ ให้ความเห็นชอบแล้วหรือไม่ รวมทั้งโรงเรียนได้นำประเด็นหลักสูตรฐานสมรรถนะมาพิจารณาในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาด้วยแล้วหรือไม่ เพราะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มีนโยบายให้นำร่องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะและศึกษาผลการใช้ ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดูรายละเอียดข่าวที่นี่ https://bit.ly/2tMILux

2. ความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้และการประเมิน

หากโรงเรียนนำร่องมีหลักสูตรที่ปรับใหม่และพร้อมใช้แล้ว จำเป็นต้องใช้สื่อการเรียนรู้เฉพาะหรือไม่ สื่อการเรียนรู้นั้นจะได้มาอย่างไร จะจัดทำเองโดยมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ อย่างไร ถ้าต้องเตรียมเรื่องสื่อการเรียนรู้จะต้องลงมือทำอย่างไร จะดำเนินการตามมาตรา 35 อย่างไรให้โปร่งใส ตรวจสอบ และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม นอกจากนั้น เมื่อผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา ที่แปลงมาสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะและหลักสูตรสถานศึกษาแล้ว ครูจะรู้ได้อย่างไรว่า จัดการเรียนการสอนแล้วทำให้เด็กเกิดสมรรถนะที่ต้องการได้มากน้อยเพียงใด ฉะนั้น เมื่อโรงเรียนทำหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยให้ครูใช้การประเมิน (Assessment) สมรรถนะได้

3. ความพร้อมด้านสมรรถนะครูและบุคลากร

โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในจุดเน้นของโรงเรียนและพื้นที่ ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินไปพร้อมกัน และจะต้องฝึกฝนฝีมือในเรื่องใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยเฉพาะควรพิจารณาว่าครูมีสมรรถนะการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างที่โรงเรียนและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยากเห็นแล้วหรือไม่ เพียงใด เพียงพอแล้วหรือไม่ต่อการขับเคลื่อนงานอย่างมีคุณภาพ

4. ความพร้อมด้านระบบกลไกการจัดการศึกษาร่วมกัน

โรงเรียนหรือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ มีการสร้างระบบ กลไก การจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า โรงเรียนพัฒนาได้ดีขึ้นด้วยการจัดการศึกษาร่วมกัน มีภาคี คนในพื้นที่ พี่เลี้ยง และหน่วยงานต่าง ๆ ได้มาร่วมคิดวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน ร่วมสะท้อนผล ร่วมชื่นชม ร่วมหนุนเสริม ฯลฯ อย่างจริงจังแล้วหรือไม่ มีวงจรการทำงานที่มีระบบ feedback แบบสายสั้น ช่วยให้รู้ผลเร็ว สู่การปรับปรุงเร็ว ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแล้วหรือไม่ สุดท้ายคือ ระบบกลไกการจัดการศึกษาร่วมกันนี้ จะสามารถเป็นแบบอย่าง หรือกรณีศึกษาสำหรับผู้สนใจจากพื้นที่อื่น ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นทั้ง 4 ประการข้างต้น เพื่อหยิบยก/ชูประเด็นขึ้นมาเพื่อเป็น “ตุ๊กตา” ให้แต่ละ สพท. ได้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกับกลุ่มโรงเรียนนำร่องใน สพท. วิเคราะห์ และพิจารณาอย่างจริงจังว่า ควรใช้งบประมาณในเรื่องใด เรื่องนั้นจำเป็นมากน้อยเพียงใด ซึ่ง สบน. ตระหนักดีว่าแต่ละที่มีความต้องการจำเป็นต่างกัน รวมทั้งมีฐานเดิมแตกต่างกัน จึงส่งงบประมาณนี้ให้ สพท. ลงไปช่วยโรงเรียนนำร่อง สพท. อาจจัดทีมหลักสูตร ทีมนิเทศพัฒนา เข้าไปช่วยรับฟังโรงเรียนและช่วยเหลือโรงเรียนในประเด็นเร่งด่วน ทั้งนี้ สพท. จะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ ด้วย

สุดท้ายนี้ สบน. ขอเรียนว่า เจตนาในการจัดสรรงบประมาณก้อนนี้ ไม่ได้ต้องการให้ สพท. กระจายแจกจ่ายรายโรงเรียน เพราะจำนวนเงินน้อยมาก ๆ ไม่มีพลังที่จะใช้ในการพัฒนาโรงเรียน

ดังนั้น สพท. ควรใช้เป็น “สารตั้งต้น” ให้คนเขตจับมือกันไปช่วยโรงเรียนนำร่องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาหน้า

พร้อมในที่นี้คือ พร้อมทำในสิ่งใหม่ที่ต่างจากเดิม โดยดูเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อยากให้การใช้งบประมาณเกิดความคุ้มค่า มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โรงเรียนและผู้เรียนเป็นฐาน

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
มุมมองต่อ “หลักสูตร” พื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับการปฏิรูปประเทศ : ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ (เลขาธิการ กพฐ.)_[Ep.2]รัฐบาลเปิดรับข้อเสนอทุนวิจัย Flagship พื้นที่นวัตกรรม (2,000,000 – 10,000,000 บาทต่อชุดโครงการวิจัย)
บทความล่าสุด