พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ร่วมกับสตาร์ทอัพ Edsy ใช้ AI ยกระดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน

31 พฤษภาคม 2024
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ร่วมกับสตาร์ทอัพ Edsy ใช้ AI ยกระดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน 

   

เรียนภาษาอังกฤษแล้วต้องสื่อสารได้ แต่จะทำอย่างไรให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสฝึกพูดอย่างเต็มที่ในขณะที่โรงเรียนหลายแห่งยังขาดแคลนครูสอนภาษาอังกฤษ? ด้วยเหตุนี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพ Edsy นำ AI เข้าสู่ห้องเรียน เพื่อยกระดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เมื่อมองในระดับประเทศ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษยังคงเป็นจุดอ่อนของคนไทยส่วนใหญ่ ล่าสุด ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากสถาบัน EF (Education First) อยู่อันดับที่ 101 จาก 113 ประเทศทั่วโลก ในดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ EF English Proficiency Index ประจำปี 2023 สำหรับจังหวัดระยอง มีอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่บุคลากรในหลายภาคส่วนยังขาดทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ถือเป็นโจทย์สำคัญในภาคการศึกษาที่ต้องพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดตรงนี้ สอดคล้องกับความเห็นของท่านปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และประธานกรรมการสถาบัน RILA ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ระยองเป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม การเตรียมคนไประดับสากล อย่างแรกต้องมีจุดเด่นเรื่องภาษา”

โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง นำโดยสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง หรือ ‘RILA’ (Rayong Inclusive Learning Academy) ได้ร่วมกับ Edsy สตาร์ทอัพการศึกษาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa) ในการจัดโครงการนำร่อง “ประเมินและพัฒนาศักยภาพทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” กับ 4 โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจ.ระยอง ได้แก่ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา โรงเรียนวิบูลวิทยา โรงเรียนวัดช้างชนศิริราษฎร์บำรุง และโรงเรียนบ้านหนองม่วง

Edsy ได้นำเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ AI English Speaking Coach ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยชาวไทยที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนนำร่องทั้ง 4 แห่ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2023 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 ที่ผ่านมา
นักเรียนจะได้เรียนตามแผนการสอนปกติของครูผู้สอน แต่เมื่อเรียนเสร็จแล้ว นักเรียนจะได้ฝึกพูดและตอบคำถามกับ AI English Speaking Coach เพื่อเสริมสร้างความรู้ภาษาอังกฤษ ทั้งคำศัพท์ รูปประโยค และไวยกรณ์ที่ได้เรียนจากในห้องเรียนให้กลายเป็นความสามารถในการสื่อสารที่แท้จริง ผ่านการรับข้อเสนอแนะทันทีจากปัญญาประดิษฐ์ แทนครูผู้สอนที่มีจำนวนและเวลาจำกัด

ข้อดีคือ นักเรียนจะได้ฝึกแต่งประโยค พูดคำตอบของตนเอง และได้รับข้อเสนอแนะทันทีเพื่อปรับหลักไวยากรณ์ที่ผิด แก้ไขรูปประโยคให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น และปรับสำเนียงการออกเสียงให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องรอทั้งห้องตอบพร้อมกันหรือรอครูผู้สอนมาชี้แนะเป็นรายคน AI English Speaking Coach จึงเป็นทางออกในการช่วยครูผู้สอนเพิ่มจำนวนชั่วโมงการฝึกพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนแต่ละคน โดยไม่เพิ่มภาระให้แก่ครูผู้สอน

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา Edsy ได้จัดงาน “Edsy x พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง: โรงเรียนต้นแบบการพัฒนาทักษะการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)” เพื่อสรุปผลโครงการนำร่องเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ AI English Speaking Coach ใน 4 โรงเรียนนำร่อง และจัดกิจกรรมให้ตัวแทนนักเรียนได้แสดงความสามารถ กิจกรรมจัดขึ้น 2 รอบ โดยรอบเช้าจัดที่โรงเรียนวิบูลวิทยา และรอบบ่ายที่โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา

นายธงชัย มั่นคง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง พร้อมด้วยผู้บริหารและคุณครูจากโรงเรียนกว่า 30 แห่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง ได้ให้เกียรติมาร่วมงาน

นายณัฐภพ หลักดี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรสถาบันการศึกษาของ Edsy ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอผลลัพธ์จากโครงการนำร่อง โดยระบุว่านักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการด้านทักษะการพูดภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความคล่อง (Fluency) ความถูกต้อง (Accuracy) และการออกเสียง (Pronunciation) นอกจากนี้ นักเรียนยังมีแนวโน้มที่จะสามารถตอบคำถามด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งตัวช่วยได้มากขึ้นอย่างชัดเจน

หลังจากการนำเสนอผลลัพธ์ของโครงการนำร่อง เป็นการเข้าสู่กิจกรรมเสวนาแสดงทรรศนะของผู้บริหาร คุณครูผู้ดูแลโครงการในโรงเรียนนำร่อง และนายณัฐภพ หลักดี ในหัวข้อ “แนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง”
ในการเสวนาทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย ผู้ร่วมเสวนาจากทั้ง 2 โรงเรียนต้นแบบ แบ่งปันมุมมองว่า เครื่องมือ Edsy AI English Speaking Coach มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน เป็นที่พึงพอใจของทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับประสบการณ์ที่สนุกสนานจากการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ

“นักเรียนมีความสนใจและกล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษกับ Edsy AI English Speaking Coach มากกว่าการพูดกับครู คุณครูได้เห็นนักเรียนหลายคนมีความตั้งใจและพยายามฝึกพูดภาษาอังกฤษมากขึ้นอย่างชัดเจน เด็กๆ กระตือรือร้นที่จะฝึกฝนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกที่ห้องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนหรือฝึกเองผ่านมือถือที่บ้าน หากมีข้อสงสัยหรือติดขัดก็จะมาถามคุณครู ซึ่งหลังจากจบโครงการนำร่อง นักเรียนหลายคนมีความสนใจในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้นและมีพัฒนาการทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างก้าวกระโดด”

กล่าวโดยคุณครูวรณัน วัฒนตรานนท์ ครูผู้ดูแลโครงการนำร่อง โรงเรียนวิบูลวิทยา

“Edsy AI English Speaking Coach เปรียบเสมือนผู้ช่วยครูในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน ครูสามารถติดตามพัฒนาการของนักเรียนและใช้ผลคะแนนในการปรับปรุงหรือเพิ่มเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ ครูยังสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลพัฒนาการของนักเรียนในภาพรวมจากเครื่องมือนี้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนให้เหมาะกับบริบทของนักเรียนแต่ละห้องได้อย่างเหมาะสม”

กล่าวโดยคุณครูจุฑารัตน์ เกิดทอง ครูผู้ดูแลโครงการนำร่อง โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา

นายธงชัย มั่นคง ได้เสริมปิดท้ายการเสวนาว่า นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ด้านการศึกษาภาษาอังกฤษ อย่างเครื่องมือ AI English Speaking Coach เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้โรงเรียนสามารถพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คุณครูผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมไปใช้ในโรงเรียน ทั้งการเลือกนวัตกรรม วางแผน และนำไปยกระดับคุณภาพการจัดการสอน ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พร้อมสนับสนุนการขยายผลอย่างเต็มที่ โดยกระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหารจัดการอย่างมีอิสระ ตามเจตนารมณ์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ปัจจุบัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง ได้นำนวัตกรรม Edsy AI English Speaking Coach มาขยายผลในโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยาและโรงเรียนวิบูลวิทยา โดยใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ส่วนในปีการศึกษาถัดไป มีเป้าหมายขยายผลในระดับจังหวัด เพื่อผลักดันให้เยาวชนในจังหวัดระยองทุกคนมีศักยภาพและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับสากล

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


 

ผู้เขียน: ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล ณัฐภพ หลักดี 
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
การอบรมและเผยแพร่ผลงานวิจัยและให้ความรู้นวัตกรรมเชิงระบบและแนวทางการออกแบบระบบสารสนเทศตามมาตรฐานข้อมูลฯประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์และนราธิวาส
บทความล่าสุด