โรงเรียนบ้านสมานมิตร พื้นที่นวัตกรรมระยอง บูรณาการหลักสูตร สิ่งแวดล้อม & สมาธิ ชุมชนเสริมทัพ!

25 ธันวาคม 2562

จากการลงพื้นที่กับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ณ โรงเรียนบ้านสมานมิตร โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้เรียนรู้สภาพและแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนบ้านสมานมิตร สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากการรายงานของ ผอ.เรืองกิตติ์  สุทธิวิรัตน์ ผู้บริหารโรงเรียนบ้านสมานมิตร ดังนี้

1. ชุมชนไฟเขียว เข้าร่วมนำร่อง โรงเรียนบ้านสมานมิตรได้ขอความเห็นชอบจากชุมชน ก่อนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ชุมชนที่นี่มีความเข้มแข็ง สมัครสมานสามัคคี เหมือนชื่อหมู่บ้าน “สมานมิตร” และชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษากับโรงเรียนในทุกด้าน
2. สร้างเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านสมานมิตรใช้สิ่งแวดล้อมเป็นฐานในการขับเคลื่อน ด้วย School Concept “โรงเรียนสมานมิตรสร้างสรรค์เชิงนิเวศ (Samanmit Creative Eco-School)”
3. บริหารด้วย SAMANMIT MODEL โรงเรียนพัฒนาคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาด้วย “SAMANMIT MODEL” มีหลายองค์ประกอบ เช่น การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำแผนปฏิบัติการ การพัฒนาภาคีเครือข่ายและใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา
4. ผู้นำเป็น Super Coach ผู้บริหารโรงเรียนปรับเปลี่ยนสู่การเป็น Super Coach เป็นครูของครู หรือ เป็นผู้นำทางวิชาการ สร้างแรงบันดาลใจให้ครูในโรงเรียน และบริหารอย่างมืออาชีพ
5. ครูยุคใหม่ เชี่ยวชาญจัดการเรียนรู้โรงเรียนได้พัฒนาครูด้วยวิธีการที่หลากหลาย เรียนรู้การจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
6. หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้บูรณาการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active learning เน้นทักษะชีวิต และอยู่ระหว่างทดลองใช้หลักสูตรสถานศึกษา Eco-school จัดชั้นเรียนแบบคละชั้น ภาคเช้าเรียนรายวิชาหลัก 4 วิชาแบบบูรณาการ ภาคบ่ายบูรณาการ Eco-School (บูรณาการหลักสูตร Rayong Macro และหลักสูตรยุวสาสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพ) ใช้พื้นที่ทุกส่วนที่มีจำกัดให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (learning space)อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนใช้วิธีประเมินผู้เรียนด้วยการประเมินฐานสมรรถนะ 5 ด้าน เพื่อความเป็น SMART KIDS โดยเริ่มประเมินในภาคเรียนหน้า
7. นิเทศโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐาน ด้านการนิเทศ โรงเรียนได้ใช้กระบวนการนิเทศ เช่น การสะท้อนชั้นเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Classroom Reflection to Change : CRC) รวมทั้ง การให้โรงเรียนอื่นมาเยี่ยมเยียน (School visit)

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มองเห็นโอกาสของโรงเรียนบ้านสมานมิตร คือ การมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษา นอกจากนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือ การมีหลักสูตรของสถานศึกษาตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โรงเรียนบ้านสมานมิตรกำลังจะมีหลักสูตรสถานศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ จึงเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก ส่วนการปรับเปลี่ยนด้านอื่น ๆ โรงเรียนได้พยายามดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องกับหลักสูตรและเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้การบริหารและการจัดการศึกษาขับเคลื่อนได้ตาม School Concept ของโรงเรียน ถือเป็นก้าวสำคัญต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้สำเร็จจนถึงเป้าหมายปลายทาง

Written by อุมาภรณ์  พัฒนะนาวีกุล
Photo by พิทักษ์ โสตถยาคม และอุมาภรณ์  พัฒนะนาวีกุล
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สะท้อนผลจากการตรวจราชการเฉพาะด้าน (Agenda-based) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ของสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สป.ศธ. “ให้ Focus ที่ปัญหาแท้ แก้ด้วยนวัตกรรม ทำหลักสูตรพื้นที่ ต้องมีพี่เลี้ยงดูแล”มุมมองต่อ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับการปฏิรูปประเทศ : ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ (เลขาธิการ กพฐ.)_[Ep.1]
บทความล่าสุด