เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล มาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการสนับสนุนของ สพฐ. ในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่ง TDRI และมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็น 2 ใน 26 องค์กร ในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ที่ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา จน พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562
![](https://www.edusandbox.com/wp-content/uploads/2019/06/ca25b9d3c49a5be842a64d1360cff37ba_25752459_190627_0006-1024x575.jpg)
ประเด็นที่ผู้แทน TEP ขอความร่วมมือ สพฐ. เช่น
1) ประสานงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน
2) ใช้โอกาสในการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็น “ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต” หรือ Lab ในการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับนวัตกรรมการปฏิรูปการศึกษา
3) จัดทำ “มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล” สำหรับการเอื้อและส่งเสริมให้สถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ สะดวกในการคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม
4) สร้างกลไกการลดภาระงาน โดยมีหนังสือราชการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือเพื่อบูรณาการงานโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
5) จัดทำหนังสือราชการยืนยันให้โรงเรียนสามารถใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจัดซื้อสื่อหนังสือเรียนได้อย่างอิสระตามหลักสูตรแกนกลางฯ ที่มีการปรับใช้ ตามข้อกำหนดในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
6) รับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่เครือข่ายในพื้นที่จัดขึ้น ให้สามารถนับชั่วโมงการพัฒนาครู ตามหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าในวิชาชีพครู
![](https://www.edusandbox.com/wp-content/uploads/2019/06/11-1024x610.jpg)
![](https://www.edusandbox.com/wp-content/uploads/2019/06/ca25b9d3c49a5be842a64d1360cff37ba_25752459_190627_0023-1024x575.jpg)
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ตระหนักเห็นความสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพราะ พ.ร.บ. ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. พ.ร.บ.นี้จึงกำหนดให้เลขาธิการ กพฐ. เป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย ในภารกิจที่ สพฐ. ดำเนินการ เช่น ได้จัดตั้งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นโครงสร้างภายใน ส่วนการดำเนินการในพื้นที่ ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง งบประมาณ การพัฒนานวัตกรรม เรื่องวิชาการ/หลักสูตร ซึ่งจะต้องจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการออกมาอย่างชัดเจน แผนและขั้นตอนการดำเนินงานแต่ละภาคจะแตกต่างกัน และจะต้องหาทางช่วยปลดล็อก เช่น การจัดทำแนวทางการจัดซื้อสื่อหนังสือเรียน แนวทางพัฒนาครูอาจารย์ การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่ง สพฐ. จะต้องเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถทำได้จริง
![](https://www.edusandbox.com/wp-content/uploads/2019/06/ca25b9d3c49a5be842a64d1360cff37ba_25752459_190627_0007-1024x575.jpg)
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo Credit by กำธร สาธา และประสิทธิโชค ไพบูลย์สิทธิ์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญาปัญญารัมย์