ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2565

19 กันยายน 2565

ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ครั้งที่ 3/2565

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา สพฐ. โดย สบน. ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2565 โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ แทนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยกรรมการและเลขานุการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และกรรมการ ซึ่งเป็นปลัดหรือผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัล, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, ที่ประชมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อีกทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.ทิศนา แขมมณี, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง, นายปกรณ์ นิลประพันธ์, นางศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ 

   

สบน. ในฐานะรับผิดชอบงานเลขานุการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับแจ้งให้ที่ประชุมทราบและร่วมพิจารณา

จากการประชุมฯ สบน. ขอสรุปผลการประชุมในภาพรวมดังต่อไปนี้

วาระเพื่อทราบ

ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อทราบต่อที่ประชุม 3 เรื่อง ได้แก่

1. การปฐมนิเทศพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดูรายละเอียด

จากการปฐมนิเทศพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถสรุปบทเรียนทรงพลังเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 3 ประเด็นคือ

  • กำหนดเป้าหมายสู่ความสำเร็จและสร้างกลไกการทำงานจากทุกภาคส่วน

ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดเป้าหมาย เพื่อตอบสนองใน 3 ประเด็น คือ (1) จังหวัดการศึกษาด้วยตนเอง (2) สถานศึกษาพัฒนาทั้งระบบ และ (3) ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองตอบสนองผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education: DOE) ของชาติ จังหวัด และสถานศึกษา

  • การเลือกใช้และพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์พื้นที่

ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของสถานศึกษา ผู้เรียน และบริบทเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกประเภทหลักสูตรที่ต้องการ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาร่วมกัน  โดยบุคลากรของสถานศึกษา ร่วมกับผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมทางวิชาการ เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา ศึกษานิเทศก์ โค้ช ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันของผู้ใช้หลักสูตรสู่การปฏิบัติพร้อมทั้งต้องดำเนินการจัดระบบการหนุนเสริมการเรียนรู้ของครู และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

  • การขับเคลื่อนระดับสถานศึกษา

สถานศึกษาควรต้องดำเนินการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน คือ (1) พัฒนาวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตรใหม่ (2) พัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาแบบใหม่ (3) วางแผนพัฒนาสถานศึกษากรณีที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษา (4) ออกแบบการบริหารบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเป็นการสนับสนุนส่งเสริมครู (5) หาแนวทางระดมทรัพยากร และ (6) ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแผนงานอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างเป็นระบบเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง

2. การให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ รอบ 2 จำนวน 48 หลักสูตร โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท

  • เห็นชอบ หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในเชิงหลักการและโครงสร้าง จำนวน 8 หลักสูตร
  • เห็นชอบ หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในเชิงหลักการและโครงสร้าง โดยมีเงื่อนไข จำนวน 21 หลักสูตร
  • ยังไม่ลงความเห็น เนื่องจากหลักสูตรยังขาดข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการพิจารณา ขอให้สถานศึกษานำร่องจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 19 หลักสูตร
3. ความคืบหน้าการบริหารบุคคลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล ได้มีมติสรุปผลสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป 3 ประเด็น คือ

  • การจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการบริหารงานบุคคลของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • การจัดทำโครงการผลิตครู/สรรหาครูที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละแห่ง
  • การจัดตั้ง อ.ก.ค.ศ วิสามัญจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 

วาระเพื่อพิจารณา

ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อพิจารณาต่อที่ประชุม 5 เรื่อง ได้แก่

1. การพิจารณาขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด

กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี สงขลา,สุราษฎร์ ภูเก็ต และอุบลราชธานี ได้ส่งเอกสารการเสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและได้นำเสนอความพร้อมในการขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 และครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ซึ่ง คณะอนุกรรมด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล นำเสนอผลการวิเคราะห์คำขอจัดตั้งของทั้ง 6 จังหวัด และเชิญคณะผู้เสนอ มานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

  • กรุงเทพมหานคร นำเสนอโดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • จังหวัดจันทบุรี นำเสนอโดย นายสุคิด พันธุ์พรม ศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี
  • จังหวัดสงขลา นำเสนอโดย นางสุรีย์พรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเสนอโดย นายประเวศ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • จังหวัดอุบลราชธานี นำเสนอโดย นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และนายเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี
  • จังหวัดภูเก็ต นำเสนอโดย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี สงขลา,สุราษฎร์ ภูเก็ต และ อุบลราชธานี เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมอบ สบน. จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะให้ปิดการเปิดรับสมัครจังหวัดใหม่ชั่วคราวเพื่อเตรียมความให้กับจังหวัดก่อนหน้า

2. การกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สพฐ. ดำเนินการจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดทำและพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมาตรฐานข้อมูลฯ ชุดนี้ได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากผู้แทนหน่วยงานจากส่วนกลาง จากจังหวัด และจากโรงเรียน ตลอดจนักวิจัยและภาคเอกชนที่จะใช้ประโยชน์จากมาตรฐานข้อมูลฯ พร้อมทั้งได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565 โดยมาตรฐานข้อมูลแบ่งออกเป็น 16 มาตรฐานข้อมูล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ในการกำหนดมาตรฐานข้อมูลฯ และแะมอบฝ่ายเลขานุการ ดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อไป

3. การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2563

เพื่อให้ประกาศฉบับดังกล่าว รองรับการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในกรณีมีตำแหน่งที่ว่างและวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสิ้นสุดลง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและมอบ สบน. จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

4. การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง องค์ประกอบ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2563

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนในการเสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอาจมีความแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ ความพร้อม และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งมาตรา 19 วรรคสอง กำหนดว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการขับเคลื่อน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศกำหนด ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้พิจารณาจากคำขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และให้คำนึงถึงความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมอบ สบน. ศึกษาและจัดทำรายละเอียดประกาศต่อไป

5. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาพิเศษในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

จากคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ฝ่ายเลขานุการ ได้ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาพิเศษแล้ว จำนวน 8 ท่าน โดยมี ผอ.สบน. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งทำหน้าที่ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ การติดตามการประเมินผล ด้านวิชาการ ด้านบุคคล ด้านงบประมาณ ด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม และด้านกฎหมาย เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาฯ  และปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามอบหมาย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและโดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม และจัดรายละเอียดคำสั่งแต่งตั้งฯเสนอประธานกรรมการต่อไป

วาระอื่น ๆ

ที่ประชุมได้เสนอวาระอื่น ๆ ต่อประธานกรรมการเพื่อทราบและพิจารณาใน 3 ประเด็น

  • การโยกย้าย ศธจ. และ ผอ.เขต

ในช่วงการโยกย้ายผู้บริหารการศึกษาประจำปี ควรคัดเลือก/สรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ศธจ. และ ผอ.เขต ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ช่วยกระตุ้นสถานศึกษานำร่องให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อให้จังหวัดเกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การบริหารจัดการหลักสูตร

พื้นที่ใหม่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร/ปรับหลักสูตรของสถานศึกษา และพื้นที่ใหม่เตรียมพร้อมในการสนับสนุนให้สถานศึกษานำร่องเกิดการบริหารและปรับหลักสูตร พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้เข็มแข็ง ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประสบความสำเร็จ

  • การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ควรให้พื้นที่ใหม่ได้เห็นแนวทางในการพัฒนาตามบริบทแต่ละจังหวัด โดยการการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พื้นที่ใหม่เกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

ซึ่งที่ประชุมรับทราบทั้ง 3 ประเด็นและให้ฝ่ายเลขานุการรับข้อเสนอพร้อมนำไปพิจารณาดำเนินการ/หาแนวทาง ต่อไป

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       



ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล พื้นที่แห่งความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของครูและศิษย์สร้างการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน สร้างสรรค์ผลงานด้วยโครงการอนุบาลนักคิดพิชิต 4.0
บทความล่าสุด