สรุป ความรู้และบทเรียน เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากการปฐมนิเทศฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "บทเรียนทรงพลัง" เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

7 กันยายน 2565
สรุป ความรู้และบทเรียน เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากการปฐมนิเทศฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บทเรียนทรงพลัง” เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา สบน. ได้จัดการปฐมนิเทศและแลกเปลี่ยนรู้ “บทเรียนทรงพลัง” เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่านรายละเอียด) รับชมและดาวน์โหลดเอกสารย้อนหลัง (คลิก) จากการปฐมนิเทศ ดังกล่าว ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและผู้แทนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ และตัวอย่างของจังหวัด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนและประสบการณ์ร่วมกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมในการปฐมนิเทศ ผู้เขียนจึงได้สรุปสาระสำคัญที่เป็น “บทเรียนทรงพลัง” เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

เป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ (1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น (2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ (4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในข้อ 4 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษาในร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ (1) การบริหารจัดการศึกษาในจังหวัด (2) การจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษานำร่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาควรดำเนินการตามมาตรา 20 ซึ่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของแต่ละจังหวัด อาทิ

  • กำหนดยุทธศาสตร์และแผนขับเคลื่อนฯ
  • ประสานหน่วยงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์/สนับสนุนการจัดการเรียนสอน
  • สนับสนุนให้สถานศึกษานำร่อง ปรับหลักสูตร/นำหลักสูตรไปใช้
  • เพิ่ม/พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียน/ประเมินผลการจัดการศึกษา
  • ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ ติดตาม เสริมสร้าง เตรียมความพร้อมสถานศึกษานำร่องให้จัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเกิดการพัฒนานวัตกรรม/นำไปใช้
  • เพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานการศึกษาในการพัฒนานวัตกรรม/นำไปใช้
กำหนดเป้าหมายสู่ความสำเร็จและสร้างกลไกการทำงานจากทุกภาคส่วน

ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ (1) การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (2) การลดความเหลื่อมล้ำ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร และ (4) การสร้างกลไกการมีส่วนร่วม ซึ่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้ปลดล็อกและให้ความอิสระใน 6 ด้าน คือ (1) หลักสูตร (2) สื่อการเรียนรู้ (3) การวัดและประเมินผล (4) การประกันคุณภาพการศึกษา (5) บุคลากร และ (6) งบประมาณ

ในวาระเริ่มแรก (ระยะเร่งด่วน) ของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการในขั้นแรก คือ การกำหนดเป้าหมายร่วมกันของจังหวัดจากทุกภาคส่วน เพื่อตอบสนองใน 3 ประเด็น คือ (1) จังหวัดการศึกษาด้วยตนเอง (2) สถานศึกษาพัฒนาทั้งระบบ และ (3) ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองตอบสนองผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education: DOE) ของชาติ จังหวัด และสถานศึกษา โดยการออกแบบใน 3 ระดับ คือ

  • Macro System กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษาที่ศึกษาและวิเคราะห์จาก Global DOE, OECD Learning Framework 2030,มาตรฐานการศึกษาของชาติ,นโยบายยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นำมาออกแบบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา/วิสัยทัศน์/เป้าประสงค์ของจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนฐานทุนของพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในจังหวัด
  • Meso System สร้างกลไกความร่วมมือระดับจังหวัด ออกแบบเป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ซึ่งจะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) แผนยุทธศาสตร์การศึกษา (2) กรอบหลักสูตรจังหวัด (3) ระบบข้อมูล และการติดตาม และ (4) กลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อวางบทบาทการทำงานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาควาสามารถบุคลากร และสร้างอำนาจต่อรองในการระดมทรัพยากรในการบริหารงบประมาณในพื้นที่และสนับสนุนสถานศึกษาให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Micro System การพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบเพื่อพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ อาทิ กำหนดเป้าหมายหลักของผู้เรียนในสถานศึกษา (School Concept) การปรับเปลี่ยนความคิดของผู้บริหารครู ผู้ปกครอง การปรับ/ลด/ปลด/ปล่อย กฎระเบียบ ตัวชี้วัด เปลี่ยนผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้นำทางวิชาการ เปลี่ยนครูเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้มีความหมายต่อชีวิต การปรับหลักสูตรสถานศึกษาสู่หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ/หลักสูตรใหม่ ปรับการวัดและประเมินผลตามหลักสูตรใหม่ ปรับ/เปิดพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมในการใช้ชีวิตจริง พัฒนาโค้ชในพื้นที่ (ผู้อำนวยการ ครู ศึกษานิเทศก์) และเปิดรับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการและเป็นพี่เลี้ยง

แผนการขับเคลื่อนในระยะยาว (3 ปี) เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลสำเร็จ สถานศึกษาควรดำเนินการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน คือ (1) พัฒนาวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ (2) พัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาแบบใหม่ (3) วางแผนพัฒนาสถานศึกษากรณีที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษา (4) ออกแบบการบริหารบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเป็นการสนับสนุนส่งเสริมครู (5) หาแนวทางระดมทรัพยากร และ (6) ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแผนงานอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างเป็นระบบเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง

การเลือกใช้หลักสูตรให้ตอบโจทย์พื้นที่

การเลือกใช้หลักสูตรประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สถานศึกษาสามารถเลือกใช้ได้ 4 ประเภท (อ่านรายละเอียด) ดังนี้

  • หลักสูตรประเภทที่ 1 หลักสูตรที่ปรับมาจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ครอบคลุมสมรรถนะสำคัญ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้
  • หลักสูตรประเภทที่ 2 หลักสูตรที่ปรับเพิ่มเติม จากประเภทที่ 1
  • หลักสูตรประเภทที่ 3 หลักสูตรที่ไม่ใช่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ (มติคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 เห็นชอบให้หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลักสูตรประเภทที่ 3)
  • หลักสูตรประเภทที่ 4 หลักสูตรต่างประเทศ
การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

โดย รศ.ทิศนา แขมมณี ผู้ร่างแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สถานศึกษาควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของสถานศึกษา ผู้เรียนและบริบท  เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกประเภทหลักสูตรที่ต้องการ
  2. ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาร่วมกัน  โดยบุคลากรของสถานศึกษา ร่วมกับผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมทางวิชาการ เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา ศึกษานิเทศก์ โค้ช ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และผู้เกี่ยวข้อง
    • ศึกษาหาความรู้ เรียนรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการพัฒนาหลักสูตรจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
    • ยกร่างหลักสูตรโดยบุคลากรของสถานศึกษา
  3. นำเสนอหลักสูตรเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น  ผู้แทนภาคเอกชน  และผู้แทนภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ตามข้อกำหนดในมาตรา 26)  แล้วปรับหลักสูตรให้สมบูรณ์
    • ในกรณีที่เป็นหลักสูตรประเภทที่ 3  และ 4  จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน
  4. บริหารจัดการนำหลักสูตรไปใช้ในระดับชั้นเรียน
    • การสร้างความเข้าใจร่วมกันของผู้ใช้หลักสูตร
    • การบริหารจัดการเพื่อการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ เช่น การจัดทำโครงสร้างรายวิชา หน่วยการเรียนรู้ โครงงาน กิจกรรม การจัดตารางเรียน การจัดกลุ่มผู้เรียน การกำหนดภาระงานสอน
    • การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ การจัดสรรทรัพยากร และการจัดกิจกรรมเสริมต่าง ๆ การจัดระบบการหนุนเสริมการเรียนรู้ของครู และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  5. จัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และมีการประเมินเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาเป็นประจำทุกปีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนด (มาตรา 37) ทั้งนี้ สถานศึกษานำร่องที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด ให้ถือว่าเป็นการผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติแล้ว

จากบทสรุปความรู้จากการปฐมนิเทศฯ ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดิมและที่กำลังขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใหม่ ได้เห็นภาพรวม และมาร่วมผลักดันให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อไปใช้ในอนาคต หากท่านชอบบทความเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โปรดติดตามบทความถัดไป

ที่มา
  • ประภาภัทร นิยม. (2565). จะเลือกใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างไร (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).
  • ทิศนา แขมมณี. (2565). ความมีอิสระในการใช้หลักสูตรและการปรับหลักสูตร (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).
  • สมศักดิ์ พะเนียงทอง. (2565). แนวคิดสู่จังหวัดจัดการตนเอง (ไฟล์เสียง).
  • สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช์. (2565). พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาน้อใหม่ ก้าวอย่างไรให้ถึงฝั่งฝัน (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).
  • สุทธิมาศ อภิรักษ์วณิชย์. (2565). การพัฒนาระบบนิเวศการศึกษาอย่างเป็นระบบ (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).
  • สุทธิ สายสุนีย์และสมพงษ์ หลีเคราะห์. (2565). การจัดการเรียนรู้บนภูมิสังคมและการจัดการเรียนรู้โดยครูสามเส้า (ไฟล์เสียงเและอกสารประกอบ).
  • วัชรกาญจน์ คงพูลและปกรณ์ชัย สุพัฒน์. (2565). Sisaket ASTCES สู่หลักสูตรฐานสมรรถนะและกลไก Super Coach (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).
  • สินอาจ ลําพูนพงศ์. (2565). การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ บนความหลากหลาย (ไฟล์เสียง).
  • ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล. (2565). เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากผลการวิจัย โดย TDRI (ไฟล์เสียงและเอกสารประกอบ).

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     

 


ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ประเมินอิสระ ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2565โรงเรียนบ้านขุนหาญ บูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้ การศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education)
บทความล่าสุด