นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบาย ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2565 อย่างพร้อมเพรียง

1 กรกฎาคม 2565
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบาย
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2565

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยรองประธาน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ และกรรมการและเลขานุการ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งปลัด หรือผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ สบน. ในฐานะรับผิดชอบงานเลขานุการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับแจ้งให้ที่ประชุมทราบและร่วมพิจารณา

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีวาระเพื่อทราบ จำนวน 4 เรื่อง วาระเพื่อพิจารณา 3 เรื่อง และเรื่องอื่น ๆ 2 เรื่อง ซึ่งมีรายละเอียด ผลการประชุม โดยสรุป ดังต่อไป

วาระเพื่อทราบ

ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอวาระเพื่อต่อที่ประชุม 4 เรื่อง ได้แก่

  1. ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง นโยบายการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนในสถานศึกษานําร่อง ประธานกรรมการได้ลงนามในประกาศเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ดูประกาศ
  2. กรอบงบประมาณดําเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ดังนี้
    – สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการพิจารณาเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 8,000,000 บาท
    – สพฐ. ส่วนสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้รับการพิจารณาเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 39,545,600 บาท ประกอบด้วย (1) งบเงินอุดหนุน จำนวน 30,360,100 บาท (2) งบรายจ่ายอื่น จำนวน 9,185,500 บาท
  3. ความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการคํานวณการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ปัจจุบันสำนักงบประมาณเข้าใจถึงข้อจำกัดและความจำเป็นของการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ฯ ตลอดจนเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การเปลี่ยนการศึกษาของประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ ครอบคลุมและสามารถชี้แจงต่อฝ่ายนิติบัญญัติได้ สำนักงบประมาณได้ขอให้คณะผู้จัดทำหลักเกณฑ์ฯ ได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ซึ่ง สพฐ. กำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อส่งไปยังสำนักงบประมาณ
  4. รายงานประจําปีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 ตามมาตรา 18 กำหนดให้สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ สบน. ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) รายงานประจำปี เสนอต่อที่ประชุมทราบและเห็นชอบให้เผยแพร่และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนต่อไป

วาระเพื่อพิจารณา

1. เสนอความพร้อมในการขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดกระบี่ จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้ว

จังหวัดกระบี่ จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้ว ได้ส่งเอกสารการเสนอขอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและได้นำเสนอความพร้อมในการขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ซึ่ง คณะอนุกรรมด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลนำเสนอผลการวิเคราะห์คำขอจัดตั้งของทั้ง 3 จังหวัด และเชิญคณะผู้เสนอ มานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกาา ซึ่งที่ประชุมมีมติ ให้ความเห็นชอบจังหวัดกระบี่ จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมอบสบน. จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

กระบี่

 

ตราด

สระแก้ว

 

2. หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ปัจจุบันมีสถานศึกษาจำนวน 215 โรงเรียน มีความประสงค์ขออนุมัติปรับใช้หลักสูตรประเภทที่ 3 เป็นหลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคสี่ (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) แบ่งเป็น สถานศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ของ สำนักวิชาการ สพฐ. 185 โรงเรียน สถานศึกษานำร่องอื่น ๆ 30 โรงเรียน ซึ่งประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองหลักสูตรฯ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ จำนวน 86 โรงเรียน ซึ่งที่ประชุมมีมติ เห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่อง จำนวน 86 หลักสูตร โดยมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้นำไปแก้ไขปรับปรุงให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์ตามที่คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการเสนอและมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการทำการแทนและปฏิบัติงานให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในพิจารณาหลักสูตรครั้งถัดไป

 

วาระอื่น ๆ

  1. การเสนอขอแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีข้อเสนอแนะต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเข้ามาสนับสนุนความหลากหลายของข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการทาบทามผู้ที่มีความเหมาะสม พร้อมทั้งพิจารณาหาแนวทางการแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการต่อไป
  2. ข้อเสนอการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง เสนอ) ซึ่งที่ประชุมมีมติ ให้ฝ่ายเลขานุการแจ้ง กศจ.ระยอง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นระเบียบของทางราชการ และ มอบให้ สพฐ. ดำเนินการประสานกับสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาข้อเสนอการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษให้เป็นระเบียบของทางราชการต่อไป

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

   



ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ผอ.สบน. ให้สัมภาษณ์นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่
บทความล่าสุด