บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.3 จังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ “เรียนรู้” จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

30 สิงหาคม 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.3 จังหวัดกาญจนบุรี
ลงพื้นที่ “เรียนรู้” จากประสบการณ์การทำงาน ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี

บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.3 จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อบทความที่แล้ว EP.1 ที่ได้บอกที่มาของการใช้การประเมินเพื่อการพัฒนา หรือที่เรียกว่า “DE” ใช้ในการประเมินพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยคณะผู้ประเมินอิสระจาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำหรับผู้ที่สงสัยว่า DE คืออะไรสามารถอ่านได้ที่ >>EP.1<< และการลงติดตามพื้นที่ จ.ระยอง (รร.วัดตาขัน) >>EP.2<<

สำหรับบทความครั้งนี้ “บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.3 จังหวัดกาญจนบุรี” ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานของคณะผู้ประเมินอิสระ ในวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ไปทำอะไร?

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากในการติดตามคณะผู้ประเมินอิสระลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ในครั้งนี้ ในวันแรก ผู้เขียนได้ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งช่วงเช้าจะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรีและบุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี ได้นำเสนอถึงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีสิ่งที่ผู้เขียนสนใจ คือ “การพัฒนาคนในจังหวัดด้วยรูปแบบ Inside Out เพื่อให้จังหวัดเกิดการพัฒนาและมีความเข้มแข็งจากภายใน” โดยมีแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่าน Sandbox คือ

  • จัดทำฐานข้อมูล
  • Digital Team
  • Education Network
  • One School One Business

เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงการศึกษาฐานเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการจัดศึกษาตามความถนัดของผู้เรียนและมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และการระดมทรัพยากร อุปกรณ์ ทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้มีโอกาสและได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้ฟังการนำเสนอของจังหวัดถึงวิธีการ/รูปแบบการขับเคลื่อนฯ ได้เห็นและรู้สึกถึงพลัง เห็นความตั้งใจของคนในจังหวัดที่มาขับเคลื่อนร่วมกัน และก่อนจบภารกิจในช่วงเช้า ผู้ประเมินอิสระได้สอบถามถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี โดยทิ้งประเด็นคำถามไว้ว่า “จังหวัดได้ใช้ประโยชน์ของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพแล้วหรือไม่” ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย เพราะว่าการจัดศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นเรื่องของคนจังหวัดและไม่ใช่เพียงบุคคลกลุ่มเดียวแต่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน และองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนก็เอื้อให้ไปตามไปนั้น” ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผู้เขียนหวังว่า การใช้กระบวนการ DE ในการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในรอบ 3 ปีจะช่วยให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี ได้เห็นปัญหาและสามารถพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดด

ในช่วงบ่าย เป็นกระบวนการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน อาทิ

  • ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  • ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ผู้แทนจากผู้บริหารสถานศึกษานําร่อง
  • ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ (หน่วยงานการศึกษา เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชน)

ในการสนทนากลุ่มย่อย ทีมผู้ประเมินอิสระ ได้แยกตัวประจำกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของผู้คนที่มาร่วมสนทนากลุ่ม เพื่อเป็นการสะท้อนคิดเพื่อให้เห็นการทำงานที่ผ่านมาอย่างลึกซึ้ง การสนทนากลุ่มในบางช่วง เมื่อผู้ประเมินอิสระ ได้ถามถึงประเด็นที่ตรงใจ เสียงในการพูดคุยในกลุ่มก็เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้เขียนก็แอบยิ้มในใจและคิดว่า “ประเด็นคำถามมันโดนใจใช่ไหม” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสนทนากลุ่มในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มสนทนาเปิดใจพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา

ในวันที่สองของการลงพื้น ในวันนี้เป็นการลงไปพูดคุยกับสถานศึกษานำร่อง 2 แห่ง ช่วงเช้าจะไปที่โรงเรียนบ้านสามยอด สพป.กจ.4 และในช่วงบ่ายจะไปที่โรงเรียนบ้านซ่อง สพป.กจ.2 เพื่อไปพูดคุยกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษาฯ ในประเด็นการพัฒนาครู นักเรียน โรงเรียน และการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และการเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ก่อนวันการเดินทางไปยัง รร.บ้านสามยอด ผู้อำนวยการโรงเรียน นายสมรัก ใจตรง ได้แนะนำการเดินทางว่า “ห้ามไปตาม Google Map” เพราะทางนั้นจะเป็นถนนดินอาจจะทำให้การเดินทางล่าช้า แต่วันเวลาเดินทางจริงก็ยังเดินทางไปผิดทางอยู่ เพราะว่าถนนที่ต้องเลี้ยวเข้าไป เพื่อยังโรงเรียนยังอยู่อีกไกลมาก และก็ได้เข้าใจว่า “อย่างนี้นี่เอง ไว้ครั้งหน้าแล้วกัน”

เมื่อเดินทางถึงจุดหมายแรก ที่โรงเรียนบ้านสามยอด ผู้เขียนได้ขอเข้าสังเกตการณ์ การพูดคุยของผู้ประเมินอิสระกับกลุ่มผู้แทนนักเรียน จากการสังเกตนักเรียนกลุ่มนี้ ค่อนข้างมีความรู้และมีทักษะในการสื่อสาร เห็นได้จากพูดคุยกับผู้ประเมินอิสระอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียน ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชุมชน การต่อยอดองค์ความรู้ และที่น่าประทับใจคือ เมื่อผู้ประเมินอิสระได้ถามคำถามเป็นภาษาอังกฤษ นักเรียนสามารถโต้ตอบกลับด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ

หลังจากการพูดคุยกับผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ สิ้นสุดลง ผอ.สมรัก พร้อมคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ได้พาคณะผู้ประเมินอิสระ เดินสำรวจและเยี่ยมชมโรงเรียนและอธิบายที่มาต่าง ๆ ในโรงเรียน พร้อมแนะนำสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าโรงเรียนแห่งมีชุมชนที่เข็มแข็ง มีความพร้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือองค์ความรู้ก็ตาม

ในการสำรวจสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ผู้เขียนได้เห็นสิ่งต่าง ๆ และจากคำอธิบายของ ผอ.สมรักษ์ และสามารถใจได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้ สามารถจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ มีความสุข และเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียน เพราะนักเรียนที่นี้ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย อาทิ การทำธุรกิจจากเกษตรกรรม ได้เรียนรู้การเป็นเจ้าของกิจการ เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ เกิดความรับผิดชอบ การดูแล การแลกเปลี่ยน ตัวอย่าง การทำบริษัทฟาร์มเห็ดนางฟ้าภูฐานร่วมใจ จำกัด, บริษัทไก่ฟาร์มสามยอด จำกัด, บริษัทสุกร จำกัด, การเลี้ยงปลา

นักเรียนที่นี้ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น มีเครื่องเล่นที่เป็นของจริง ที่ได้จากการบริจาคของเอกชน เครื่องเล่นกลายเป็นโต๊ะนั่ง/ที่นั่ง ได้สัมผัส หยิบ จับ ให้นักเรียนได้เกิดจินตนาการและการเรียนรู้จากเล่น

นักเรียนที่นี้ มีแหล่งเรียนรู้ ได้ฝึกประสบการณ์จริง อาทิ การฝึกการใช้วิทยุกระจายเสียง การเล่นดนตรี การตัดเย็บผ้า การฝึกเป็นผู้ประกอบการ ห้องคอมพิวเตอร์ สตูดิโอเพื่อการแสดง มีมุมของเล่นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ประกอบของเล่น

และที่สำคัญโรงเรียนที่นี้ เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ธรรมชาติ ต้นไม้ แหล่งน้ำ ต้นไม้ที่ปลูกทุกต้นที่นี้ จะต้องมีชื่อประจำต้นและวันเกิด เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้และตระหนักกับสิ่งแวดล้อม มีซุ้มที่ปลูกพืชและพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ถอดยาวเป็นร่มเงาไปตามถนนที่ให้นักเรียนสามารถไปหลบแดดร้อนได้ในยามพักกลางวัน

หลังจากได้เดินเยี่ยมชมโรงเรียนแล้ว (ผอ.แอบกระซิบ ว่า โรงเรียนขาดนักการภารโรง ผอ. ครู และนักเรียน จะต้องเป็นคนทำความสะอาดและดูแลโรงเรียนเองทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนได้หวังว่าการที่โรงเรียนได้รับบุคลากรสายสนับสนุนเพื่อรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ มีส่วนช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนาได้เช่นกัน ) เมื่อผู้เขียนได้หยุดและมองในภาพรวมทำให้เห็นและรู้สึกได้ว่า โรงเรียนแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ ซึ่งสังเกตุได้จากการจัดการเรียนการสอน จากการสังเกตการสัมภาษณ์ นักเรียน ผอ. ครู ผู้เขียนรู้สึก และเชื่อได้ว่า นักเรียนที่นี้จะต้องได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้ และก่อนจะออกเดินทางไปยังโรงเรียนถัดไป ผอ.รร. ได้เชิญคณะผู้ประเมินและผู้เขียนร่วมรับประทานอาหาร และขออำลาเพื่อเดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านซ่อง โรงเรียนถัดไป

ในช่วงบ่าย คณะผู้ประเมินอิสระ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านซ่อง สพป.กจ.2 ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก ผอ.ยลพรรษย์ ศิริรัตน์ ผอ.รร.บ้านซ่อง พร้อมคณะครูและนักเรียน ในช่วงกล่าวตอนรับทางโรงเรียนได้มีนักเรียนตัวแทนมากล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับ และที่ต้องแปลกใจอีกครั้ง คือ นักเรียนที่โรงเรียนบ้านซ่องนี้ กล่าวต้อนรับด้วยภาษาอังกฤษ แสดงออกด้วยความมั่นใจ และเต็มไปด้วยความกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียน (ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงสมัยที่เป็นนักเรียน คงไม่กล้าแสดงออกต่อที่หน้าชั้นเรียน T_T)

จากนั้น ผอ.ยลพรรษย์ ก็ได้เล่าถึง โรงเรียนบ้านซ่องว่า เป็นโรงเรียนที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ให้นักเรียนสื่อสารได้และนำไปใช้ประโยชน์ และได้เล่าต่อไปว่า เพราะได้รับความช่วยเหลือจากประธานกรรมการสถานศึกษาฯ ที่เล็งเห็นประโยชน์จากการใช้ภาษาอังกฤษจากประสบการณ์ใช้ชีวิตจริงในต่างประเทศ จึงได้สนับสนุนโรงเรียนบ้านซ่องแห่งนี้มุ่งพัฒนาต้องการให้นักเรียนที่นี้ ให้สื่อสารได้มากกว่า 1 ภาษา และ ผอ.ยลพรรษย์ ได้นำเสนอการพัฒนาโรงเรียนบ้านซ่อง ที่ต้องการพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะในการทำงาน โดยโรงเรียนมีการแบ่งกิจกรรมเป็น 8 ห้องเรียนอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการสอนอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการประกอบอาชีพและต่อยอดในอนาคต อ่านรายละเอียดคลิก

หลังจาการตอนรับสิ้นสุดลงและเข้าสู่การสนทนากับผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ ผู้เขียนได้ขอเข้าสังเกตการสัมภาษณ์คณะครู จากการเข้าสังเกตุ ผู้เขียนเห็นได้ว่า ครูที่นี้ มีความคิดและความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ เห็นด้วยว่า การเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนและตัวครูเอง เพราะได้มีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอน การประเมินผลฯ การไม่หยุดพัฒนาที่จะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน และโอกาสสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาสู่หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นผลดีต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้ประเมินอิสระได้ถามในประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น และผู้ประเมินอิสระ จะใช้คำถามเดิมในการเน้นย้ำว่า “ตกลงโรงเรียนได้ทำหรือพัฒนาเป็นเพราะการเป็นสถานศึกษานำร่องหรือเพราะตัวครูเอง” ซึ่งผู้เขียนฟังไปก็ลุ้นไปว่า ครูจะตอบว่าอย่างไร แต่ก็สรุปได้ว่า การเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องเป็นประโยชน์ในเชิงบวกและเป็นผลดีต่อโรงเรียนและนักเรียน หลังจากการสัมภาษณ์สิ้นสุด คณะผู้ประเมินอิสระได้พบปะพูดคุยกับ ผอ.และคณะครู และขออำลากลับ

 

ได้อะไร?

ในช่วงท้าย ในการเดินทางไปยังพื้นที่ฯ จ.กาญจนุบรี ในครั้งนี้ ผู้เขียนได้เห็นและได้เรียนรู้การทำงานของคณะผู้ประเมินอิสระิ พื้นที่ จ.กาญจนบุรี และสถานศึกษานำร่อง และขอขอบคุณ คณะผู้ประเมินอิสระ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ บุคลากรสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดฯ เขตพื้นที่ ผอ.รร. คณะครู และนักเรียนของโรงเรียนบ้านสามยอดและโรงเรียนบ้านซ่อง ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้เห็นมุมมองในการทำงานของทุกหน่วยงาน ได้เห็นและได้สัมผัสถึงพลังในการทำงาน ความหวัง ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อนักเรียน ซึ่งในการมาร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและได้ประโยชน์ต่อผู้เขียน และผู้เขียนอยากเห็นว่าจังหวัดกาญจนบุรีพัฒนาสู่จังหวัดจัดการตนเองอย่างเต็มรูปแบบจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และหวังว่าบทความนี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้อ่านเช่นกัน

หากท่านชอบบทความนี้ โปรดร่วมแสดงความเห็นและติดตามต่อไปกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในบทความถัดไป

 

คณะผู้ติดตาม และ Editor
(ณัฐมล ไชยประดิษฐ์, นิฎฐา ขุนนุช, อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ฉัตรชัย หล้ากันหา)

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     

 


ผู้เขียน : อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ :
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
Download เอกสารและรับชมย้อนหลังการปฐมนิเทศและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บทเรียนทรงพลัง” เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ประเมินอิสระ ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2565
บทความล่าสุด