4 สัญญาณ++ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ (ผู้ว่าฯ-ศึกษา-ภาคีเครือข่าย-นวัตกรรมเด่น)

27 มีนาคม 2562

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา มอบหมายให้ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ การประชุมครั้งนี้เปลี่ยนสถานที่ประชุมจากศาลากลางจังหวัดมาประชุมที่โรงเรียนอนุบาลเบญจลักษ์
มีวาระเพื่อทราบ มี 3 เรื่อง คือ 1) การประกาศรายชื่อสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 50 โรงเรียน ซึ่งประกาศโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 2) การดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษของคณะอนุกรรมการแต่ละฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายสร้างการรับรู้ 3) ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายการศึกษา ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล TDRIสถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 ส่วนวาระเพื่อพิจารณา มี 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะต่างๆ ได้แก่ คณะที่ปรึกษา, ภาคีเครือข่ายการเรียนรู้จังหวัดศรีสะเกษ, คณะกรรมการแกนนำก่อตั้งภาคีเครือข่ายการเรียนรู้จังหวัดศรีสะเกษ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรม, คณะอนุกรรมการวิจัยและถอดบทเรียน, คณะอนุกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย, คณะอนุกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ 2) การแต่งตั้ง/มอบหมายศึกษานิเทศก์ปฏิบัติหน้าที่นิเทศการพัฒนาแต่ละนวัตกรรม 3) การประชุมสัมมนาศึกษานิเทศก์เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ 4) ปกเอกสารการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ 5) ข้อคิดเห็นในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และ 6) การกำหนดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษครั้งต่อไป
สิ่งที่ได้สังเกตเห็นและเรียนรู้จากการประชุมครั้งนี้ ที่นอกเหนือจากการได้เห็นความเข้มแข็ง ความมุ่งมั่นตั้งใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ หรือ core team พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ ดังนี้

1. ผู้ว่าฯ เอาจริง-ใส่ใจ-ให้ความสำคัญ งานด้านการศึกษาและพื้นที่นวัตกรรมในระดับมากที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจว่า          1) งานการศึกษาต้องมาเอง งานประชุมด้านการศึกษาเป็น 1 ใน 3 งานสำคัญ ที่ท่านจะต้องเข้าประชุมด้วยตนเอง ซึ่งงานด้านการศึกษา ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ          2) ลงพื้นที่ต้องมีเวลาเยี่ยมชมงาน การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งต่อไป หากสัญจรไปจัด ณ สถานศึกษานำร่อง จะต้องจัดเวลาช่วงการประชุม อย่างน้อยครึ่งวัน เพื่อให้คณะกรรมการได้มีโอกาสลงไปเรียนรู้ ดูการจัดการเรียนการสอน เยี่ยมชมนวัตกรรมที่โดดเด่นของสถานศึกษานั้นๆ          3) สัญญาว่าจะไม่ทิ้งกัน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารสถานศึกษานำร่องว่า หากทำด้วยหัวใจและได้ผลดีบรรลุวัตถุประสงค์ หากขัดสนทรัพยากร ท่านจะไม่ปล่อยให้ผู้บริหารสถานศึกษาสู้โดยลำพัง ท่านจะเชื่อมประสานและแสวงหาปัจจัยเกื้อหนุนเหล่านั้นให้ ดังนั้น หากทำด้วยใจ-ได้ผลดี-จะมีผู้เล็งเห็นและให้การสนับสนุนตามมาเอง สำหรับในปีงบประมาณ 2563 ผู้ว่าฯ ได้เตรียมวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 20 ล้านบาท          4) พื้นที่นวัตกรรม ทำแล้วต้องสำเร็จ ห้ามล้มเหลว! เน้นย้ำว่า การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษจะปล่อยให้ล้มเหลวไม่ได้ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพยายามและร่วมมือรวมพลังทำให้ประสบผลสำเร็จให้จงได้ โดยเริ่มต้นจากนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นต้นทุนเดิมที่มี และควรจัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิทินการขับเคลื่อนงานให้ชัดเจน

2. ศึกษาธิการจังหวัด ร้อยรัด-เชื่อมโยง-บูรณาการ-งานสร้างคน ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ (นางวัชรกาญจน์ คงพูล) ศึกษาธิการคนใหม่ของศรีสะเกษ แต่เป็นผู้นำที่คร่ำหวอดอยู่วงการการศึกษาในพื้นที่ศรีสะเกษ เมื่อกลับมาเป็นผู้นำระดับสูงในด้านการศึกษาของพื้นที่ มีความมุ่งหวังตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเด็กและเยาวชนศรีสะเกษ พร้อมร่วมทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และต้องการหนุนให้ศึกษานิเทศก์ได้ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาวิชาชีพของตนเองควบคู่กับงานการนิเทศพัฒนาครู

3. ธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจล…เทหมดหน้าตัก หนุนพื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ ในช่วง 1 ปี ของการทำงานกับพื้นที่ของทีมธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อการเตรียมการและสร้างกลไกการมีส่วนร่วมพัฒนาของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ไม่มีใครทราบว่า ทั้ง 2 ภาคีนี้ว่าจะสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่อย่างไรหรือจะสนับสนุนงบประมาณเท่าใด ได้ทราบจุดเน้นของภาคีว่า จะไม่ทำงานโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่เน้นความตั้งใจจริงของผู้เกี่ยวข้อง และต้องเห็นถึงความพร้อมที่จะลุกขึ้นมา “เอาจริง” และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงของทุกฝ่ายให้ได้ก่อน …ถึงวันนี้ทีมมีความมั่นใจว่าผู้นำในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในพื้นที่พร้อมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมกันแล้ว ในการประชุมวันนี้คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลและกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้แจ้งว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจลให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาเป็นอย่างมาก จึงเตรียมงบประมาณสนับสนุนโปรแกรมการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวม 85 ล้านบาท (ธนาคาร 45 ล้านบาท และมูลนิธิ 40 ล้านบาท) ในกรอบระยะเวลา 5 ปี เป็นการหนุนเชิงกระบวนการของการพัฒนา เช่น การประสานให้ mentor แต่ละนวัตกรรมลงไป coaching & mentoring ณ สถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวม หรือการวิจัย เป็นต้น แต่งบประมาณนี้ไม่ได้ใช้เพื่อสนับสนุน/จัดสรรลงไปที่โรงเรียนโดยตรง

4. นวัตกรรมมอนเตสซอรี่ ต้องดูที่อนุบาลเบญจลักษ์ โรงเรียนอนุบาลเบญจลักษ์ สถานที่จัดประชุมครั้งนี้ มีความโดดเด่นในเรื่องมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ Montessori เพราะมีครูที่ผ่านการอบรมพัฒนาจาก Association Montessori Internationale (AMI) ถึง 2 คน และมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่าง ผอ.บุญร่วม วิชาชัย ผอ.รร.อนุบาลเบญจลักษ์ ทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและชุมชน จนมีนักเรียนระดับปฐมวัยเพิ่มขึ้นจากเดิม 11 คน เป็น 106 คน มีครูปฐมวัยในพื้นที่ใกล้เคียงมาเรียนรู้ดูงานหลายคณะ รวมทั้งโรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนจาก สพฐ. ให้ขยายการจัดการเรียนรู้ Montessori ในระดับชั้นประถมศึกษาด้วย
…มาศรีสะเกษครั้งนี้ ผมได้เห็นถึงความก้าวหน้า ความโดดเด่น และเล็งเห็นผลความสำเร็จของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษอย่างมาก ผมคิดว่าพื้นที่ศรีสะเกษจะเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี 

Written by: พิทักษ์ โสตถยาคมPhoto credit: ณัฐธนวรรธน์ บุดดา

Facebook Comments
Leave a reply
รมช.ศธ.และเลขาธิการ กพฐ.สะท้อนคิดสู่การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอเรื่อง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ไว้ใน (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และส่งมอบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562
All comments (1)
  • Informatika
    23 มิถุนายน 2566 at 23 มิถุนายน 2566

    ในการประกาศรายชื่อสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษจำนวน 50 โรงเรียน ซึ่งได้รับการประกาศโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขอทราบว่าใครทำการประกาศและโดยใครได้ลงนามในการประกาศนี้?

    Reply

Leave Your Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บทความล่าสุด