“น้ำพริกแกงสด” ของดีในชุมชนบูรณาการการเรียนรู้สู่การสร้างสมรรถนะให้แก่นักเรียน

19 สิงหาคม 2564

โรงเรียนวัดบ้านเก่า
ที่อยู่ : หมู่ที่ 2 บ้านเก่า  ตำบล : ตาขัน. อำเภอ : บ้านค่าย. จังหวัด : ระยอง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1

จุดเริ่มต้นการทำพริกแกงของโรงเรียน

นายสันติ แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านเก่า กล่าวว่า ในชุมชนบ้านเก่ามีการทำน้ำพริกแกงมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานแล้ว จากส่วนตัวพึ่งจะได้ทราบว่า น้ำพริกแกงที่ขายตลาดในเมือง คือ น้ำพริกแกงที่มาจากชุมชนบ้านเก่าแห่งนี้ ก็จะเป็นในเรื่องของการสืบสาน การอนุรักษ์ของดีประจำท้องถิ่นไว้ด้วย

จุดเน้นของโรงเรียนคือ ความหลากหลายของวัฒนธรรมและอาหารพื้นบ้าน จึงได้นำมาทำเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ การบูรณาการ คือ จะเรียนในเรื่องอาหารพื้นบ้านในส่วนของชุมชน จึงได้ให้เด็กเรียนรู้เรื่องกระบวนการของการทำตั้งแต่เริ่มต้น คือ ตั้งแต่การปลูกพืชที่จะใช้สำหรับทำพริกแกง สำหรับในระดับชั้น ป.1 ยังไม่ได้มีการลงมือทำกิจกรรมปลูกพืชในตรงนี้ แต่จะเป็นส่วนของการเรียนรู้จากภาคทฤษฎี  ในระดับชั้น ป.2 – ป.3 จะเริ่มทำการเข้าสู่ขั้นตอนของการบูรณาการ นั้นคือ การเริ่มเพาะปลูก และในระดับชั้น ป.4 จะเริ่มในส่วนของการเก็บผลิตผล เริ่มลงมือทำการแปรรูป ในส่วนของ ป.5 – ป.6 ก็จะเป็นในส่วนของการลงมือทำน้ำพริกของชุมชนบ้านเก่าแห่งนี้ และยังได้ผลิตตราสินค้าเพื่อที่จะนำไปขาย และทางโรงเรียนได้ไปเก็บข้อมูล เทคนิควิธีการ จากผู้ที่ได้ลงมือทำน้ำพริกแกงสด หรือจากวิทยากรท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ และมาสอนการทำน้ำพริกเพื่อเด็กนักเรียนที่กำลังจะจบในระดับชั้น ป.6 จะได้มีพื้นฐานไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนบ้านค่าย ในวิชาการงานอาชีพหากนักเรียนคนไหนสนใจก็สามารถนำไปเรียนต่อยอดเพิ่มได้ 

  

 

ผลจากการเรียนรู้ สู่การลงมือทำ 

ทางโรงเรียนได้นำไปทำเป็นอาหารที่โรงเรียนด้วยส่วนหนึ่ง และมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญได้ติดต่อน้ำพริกของโรงเรียน เพื่อนำไปทำอาหารให้เณรที่อยู่ในโรงเรียนได้ฉัน ยังมีโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมอุดหนุนอีกด้วย และได้นำไปออกงานเมื่อเดือนสิงหาคม ในปี 2563 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่ร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพราะจากที่ภาพลักษณ์เดิมของโรงเรียนจะเป็นในเรื่องของวัฒนธรรม ศาสนา ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานบางท่านได้ทราบว่า พริกแกงสดของจังหวัดระยองมีที่มาที่ไปมาจากชุมชนแห่งนี้ ซึ่งกิจกรรมได้ดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลามา 1 ปีกว่าๆ แต่ตอนนี้ได้หยุดชะงักไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จึงทำให้ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบปกติได้ และตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงผักของนักเรียนให้เป็นแปลงปลูกต้นฟ้าทะลายโจร เพราะจะได้นำไปช่วยชาวบ้านในพื้นที่ในการป้องกันหรือรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ได้  และยังก่อให้เกิดผลแก่ตัวนักเรียน คือ การเกิดสมรรถนะ เกิดทักษะจากกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติ และทำให้นักเรียนเกิดความรักในชุมชนท้องถิ่นของตน ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ชุมชนมี เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดระยองที่สืบเนื่องมายาวนาน

               

ปัญหาทำให้ต้องพักกิจกรรมตรงนี้ไว้ 

จากการได้ปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาที่เป็นเรื่องหนักของโรงเรียน สามารถที่จะกระทำมาได้อย่างต่อเนื่อง  แต่ปัจจุบันนี้ ปัญหาที่โรงเรียนพบคือ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกและระดับประเทศ ทำให้การทำกิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และยังไม่สามารถที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาในส่วนของตรงนี้ได้ 

ความภาคภูมิใจ

จากการที่ได้พานักเรียนไปนำเสนอพื้นที่นวัตกรรม ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 เด็กนักเรียนสามารถที่จะพูดนำเสนอในสิ่งที่ทำได้ และยังได้ขายพริกแกงสด ซึ่งเป็นของดีในชุมชน และทางโรงเรียนยังมีความภาคภูมิใจอีกหนึ่งสิ่งก็คือ การที่ได้นำสิ่งที่บุคคลภายนอกไม่รู้ได้ไปบอกกล่าวให้ได้รับรู้ว่าภายในชุมชนบ้านเก่าของเรามีน้ำพริกแกงซึ่งเป็นของดีในชุมชนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งภายนอกสังคมจะรับรู้เพียงว่า ชุมชนบ้านเก่าเป็นชุมชนที่มีทั้งชาวพุทธ – มุสลิม และเป็นชุมชนที่รู้จักผ่านทางนิราศเมืองแกลง

ข้อคิดที่ได้ของผู้เขียน

จากกิจกรรมของโรงเรียนวัดบ้านเก่า ทำให้ทราบว่า การนำของดีในชุมชนมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ทำให้นักเรียนได้รับความรู้เพิ่มเติมและเกิดทักษะสามารถนำไปต่อยอดกับทักษะอาชีพในภายภาคหน้าได้ และหากนักเรียนมีความสนใจก็ยังสามารถนำไปทำเป็นพริกแกงที่ใช้ภายในครัวเรือนของตนเอง  อันเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารของครอบครัว และยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย มาเป็นอาหารพื้นเมืองของชุมชนที่บอกต่อๆกันมา และจากการเอาใจใส่ การสังเกตของผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนวัดบ้านเก่าที่รู้จักนำของดีในชุมชนมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ในหลักสูตรบูรณาการ อันเป็นการสร้างอาชีพสำหรับนักเรียนที่สนใจและอนุรักษ์ไว้ให้กับชุมชนบ้านเก่าแห่งนี้


ผู้เขียน : ปราชญาพร    แช่ใจ
ผู้ให้สัมภาษณ์ : สันติ    แสวงทรัพย์   ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านเก่า
ผู้สัมภาษณ์ : ปราชญาพร    แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประกอบ : โรงเรียนวัดบ้านเก่า

 

Facebook Comments
ปรับ “บ้าน” เป็นโรงเรียน เปลี่ยน “พ่อแม่” เป็นครู จัดการเรียนรู้ใช้โรงเรียนเป็นฐานใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนากระบวนการคิดและแก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การมีทักษะอาชีพและทักษะชีวิต
บทความล่าสุด