สิ่งดีงาม 4 ป. (ปลื้ม เป้าหมาย เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติจริง) ในโรงเรียนบ้านเขาจีน ในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล

11 กุมภาพันธ์ 2563

พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล มีโรงเรียนนำร่องทั้งสิ้นจำนวน 10 โรงเรียน หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนบ้านเขาจีน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้ นายเสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีน พร้อมด้วยคณะครูและบุคลากรของโรงเรียนบ้านเขาจีน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโรงเรียนในการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องฯ มุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของชุมชน จังหวัด และประเทศในที่สุด ซึ่งระหว่างการเดินทางครั้งนี้ มีสิ่งต่างๆ ที่ท้าทายที่ทำให้โรงเรียนกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันจัดการ พิชิตความท้าทายเหล่านั้นด้วยจิตใจแห่งความมุ่งมั่น อดทน เสียสละ ตลอดจนความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นคือ “นักเรียน” ภาพความประทับใจและสิ่งดีงามมากมายได้ปรากฏระหว่างการเดินบนเส้นทางที่ท้าท้ายครั้งนี้ คุณครูฟารีดา หลังยาหน่าย หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า คุณครูนัส ได้บอกเล่าความรู้สึกของตนที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ผ่านเรื่องเล่าสิ่งดีงาม 4 ป. (ปลื้ม เป้าหมาย เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติจริง) ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนบ้านเขาจีน ในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล

ป. ที่ 1 : ปลื้ม

บุคคล
ประทับใจพี่เลี้ยงที่เป็นที่ปรึกษามีความเป็นมืออาชีพ ครูรับรู้และรู้สึกได้ถึงความจริงใจ ความทุ่มเท ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยากจะมาช่วยครูที่โรงเรียนบ้านเขาจีนแห่งนี้

“ครูนัทกำลังบอกว่าสัมผัสได้นะคะ ไม่ได้มีตัววัดอะไร คือสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ที่วิทยากรต้องการจะช่วยครูจริงๆ เขาพยายามนำสิ่งดีๆมาถ่ายทอดให้กับครูที่ยังขาดด้วยความใจเย็นและความทุ่มเทคือเราเห็นความตั้งใจของเขาดีจริงๆ”

วิธีปฏิบัติ
ประทับใจวิธีถ่ายทอดความรู้ของพี่เลี้ยง ที่มีแนวทางการสอนที่สามารถทำสิ่งที่เป็นเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย พี่เลี้ยงสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่าย กระบวนการให้ความรู้หรือให้คำปรึกษาที่ไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่คุณครูทำนั้นผิดแต่จะพี่เลี้ยงจะมีวิธีการอธิบาย พยายามชี้ให้เห็นเหตุผลประกอบเพื่อที่จะให้ครูได้ค้นพบว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องตรงตามหลักวิชาการหรือไม่ ซึ่งครูก็จะได้คำตอบและก็จะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง

“เราเคยเข้าใจผิดสิ่งที่เราทำนั้นคืองานวิจัยคือสิ่งที่สำคัญมาก พี่เลี้ยงก็พยายามชี้ให้เราเห็นว่าทักษะที่จะเกิดขึ้นกับเด็กต่างหากคือสิ่งสำคัญที่มากกว่างานวิจัยที่จะได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่เรายังคงจำได้จนถึงทุกวันนี้”

ประทับใจและรู้สึกพอใจกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานฐานวิจัย ในรายวิชาบูรณาการเป็นอย่างมากมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดเด็กกล้าพูดกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น เด็กความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น รู้จักค้นคว้าหาความรู้มากกว่าที่อยู่ในห้องเรียนพี่จะรอรับจากคุณครูอย่างเดียว ที่สำคัญคือเราเห็นนักเรียนของเรามีความสุขและสนุกสนานกับการเรียน ครูก็มีความสุขไปด้วย

“คือวิธีการจัดการเรียนแบบนี้ มันเริ่มต้นจากผู้เรียนที่ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ แล้วเราก็เห็นความกระตือรือร้นอยากที่จะเรียนของนักเรียน เหมือนธรรมชาติของเด็กสมัยนี้เป็นแบบนี้จริงๆ เราคงจะสอนแบบสมัยเดิมที่เราเคยเรียนคงไม่ได้แล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปครูเราต้องปรับตัว”

ประทับใจวิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีครูสามเส้าคือเราเปิดโอกาสให้ชุมชนให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีบทบาทในการกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ทั้งครูที่เป็นผู้ปกครอง และครูชุมชน เมื่อเข้ามามีบทบาทก็ทำให้ผู้ปกครองและชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกันมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนปัจจัยต่างๆให้กับทางโรงเรียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งขึ้นอย่างสังเกตได้

“เมื่อเราทำให้ผู้ปกครองและชุมชนรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นของเขาเขาเป็นเจ้าของ เมื่อโรงเรียนของเราต้องการให้ผู้ปกครองหรือให้ชุมชนช่วยเหลืออะไรตามที่โรงเรียนได้วางแผนไว้ ก็จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็ม คือมันก็จะง่ายขึ้น”

ป. ที่ 2 : เป้าหมาย

เป้าหมายต่อตัวนักเรียน : เป้าหมายส่วนตัวของครูไม่ได้ต้องการให้เด็กนักเรียน เป็นเด็กที่เก่งเลิศทางวิชาการ แต่อยากให้เด็กเป็นคนกระตือรือร้น ที่จะไขว่คว้าหาความรู้ให้กับตนเอง ก็คือเป็นคนใฝ่รู้ เพราะความรู้มีอยู่มากมายในชีวิตจริง เด็กมีทักษะชีวิตที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เป้าหมายต่อตัวผู้ปกครองและชุมชน : อยากให้อุปกรณ์และชุมชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกลับโรงเรียน เพราะครูมองว่าตัวครูเองนั้นมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วในการรับผิดชอบงานสอนนักเรียนในโรงเรียนแต่ตัวผู้ปกครองหรือชุมชนนั้นไม่ได้มีหน้าที่หลักแบบที่คุณครูมีเพราะฉะนั้นจึงคาดหวังว่าโรงเรียนจะสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและชุมชนมาร่วมจัดการศึกษาให้กับนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพของชุมชนมี

ป. ที่ 3 : เปลี่ยนแปลง

การจะไปถึงเป้าหมายต่อตัวนักเรียนที่หวังไว้นั้น ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบที่ทำอยู่นี้นั้นสามารถจะไปถึงได้ แต่ตัวของคุณครูเองก็พยายามที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพราะตัวครูเองก็ไม่ได้มีความรู้หรือความเชียวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบนี้ ส่วนตัวครูเองพยายามจะสอดแทรกสิ่งที่เป็นคุณธรรมสิ่งดีงามเข้าไปในการจัดการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากตำรา การพัฒนาตนเองนั้นก็จะพยายามศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง หรือค้นหาความรู้จาก Google หรือพยายามสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ เนื่องจากส่วนตัวคุณครูเองเพิ่งสอนมาได้ 3 ปี ก็จะพยายามถามจากรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ และถามจากท่านผู้อำนวยการ และทุกวันก่อนนอนก็จะอ่านบทความให้ได้ 1 บทความก่อนนอน อาจจะเป็นบทความดีๆ ทางการศึกษาหรือบทความที่จะเสริมสร้างพลังใจ วันไหนมีแรงก็จะอ่านมากกว่า 1 บทความ วันไหนเหนื่อยเพลียอ่านไม่ไหวก็จะพยายามอ่านให้ได้ 1 บทความเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็จะเป็นบทความในเชิงที่ให้กำลังใจแก่ตนเอง

ในส่วนของเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนอย่างเต็มที่เต็มศักยภาพนั้น ในส่วนนี้เป็นเรื่องของนโยบายโรงเรียนเป็นหลัก สิ่งที่คุณครูทำได้ก็คือการใช้ใจแลกใจเพื่อดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและชุมชน คุณครูจะอาศัยเวทีพังที่เป็นวิธีที่เป็นทางการในการพบปะพูดคุยสื่อสารกับชุมชนและผู้ปกครองเช่นในงานประชุมผู้ปกครองหรืองานกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้มีขึ้น หรืออีกช่องทางหนึ่งที่ไม่เป็นทางการก็คือช่วงเวลาที่เราเจอผู้ปกครองในหมู่บ้านหรือเจอผู้ปกครองที่มาซ้อมกีฬาเล่นกีฬาที่โรงเรียนเรามีประเด็นไหนที่จะพูดคุยที่จะเหมาะสมเราก็จะใช้จังหวะเวลานี้ให้เกิดประโยชน์ในการพูดคุยสื่อสารทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ

ป. ที่ 4 : ปฏิบัติจริง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่เกิดกับตัวครู พบว่าคุณครูในโรงเรียนมี Active มากขึ้น คำว่า Active นี้หมายถึง คุณครูมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองกระตือรือร้นในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น มีการเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ เห็นภาพคุณครูในโรงเรียนรับฟังเพื่อนครูด้วยกันหรือแม้แต่รับฟังนักเรียนมากขึ้น คุณครูยืดหยุ่นมากขึ้น นี่คือความหมายของคำว่า Active ในความคิดของครูนัท

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ที่เห็นได้ชัด นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะปฏิเสธหรือแสดงออกต่อสิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผล เริ่มเห็นว่านักเรียนมีวิธีการคิดที่มีลำดับขั้นตอนมากยิ่งขึ้น มีการคิดพิจารณาต่อการตัดสินใจของตนเองอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทุกวันนี้คุณครูไม่จำเป็นต้องขู่หรือคาดโทษใดๆกับนักเรียนแล้ว คือคุณครูสามารถที่จะบอกด้วยเหตุด้วยผลแล้วนักเรียนก็รับฟัง เมื่อเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเขาก็พร้อมที่จะทำและปฏิบัติตามสิ่งที่เราบอก คล้ายกับว่าเมื่อคุณครูรับฟังนักเรียนมากขึ้นนักเรียนก็รับฟังคุณครูมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้จึงไม่ต้องใช้วิธีการขู่ทำโทษนักเรียนเลย

“เมื่อมีจังหวะใดที่สามารถสอดแทรกหรือสามารถถอดบทเรียนจากกิจกรรมหรือความผิดพลาดของนักเรียนได้คุณครูก็จะรีบทำทันทีเลยเมื่อเป็นจังหวะหรือเห็นว่ามันเป็นจังหวะที่ดีที่เด็กจะเกิดการเรียนรู้เพื่อตัวครูเองก็ต้องตาไวที่จะหยิบยกเอาเหตุการณ์ใดๆที่เด็กประสบอยู่นั้นมาชวนเด็กถอดบทเรียนเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองหรือเพื่อนๆ พึ่งปฏิบัติหรือประสบมาคือการทำแบบนี้มันทำให้เขาได้คิดมากขึ้นและเห็นภาพชัดเจน เรารู้ว่าเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของเขาเพราะว่าเมื่อมีกิจกรรมแบบนั้นเกิดขึ้นอีกเขาจะเป็นแนะนำน้องแนะนำเพื่อนแทนเราเลยคือเราก็เหมือนได้ผู้ช่วยอีกคนนึงเลย คือครูต้องสายตาดีมองหาโอกาสและจังหวะ มองเห็นนักเรียนทุกคนเท่าเทียมกัน”

สิ่งที่ควรทำ คือต้องใช้โอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้เป็นประโยชน์ในการที่จะสอดแทรกเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมหรือถอดบทเรียนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เราควรรับฟังนักเรียนและมองนักเรียนทุกคนเท่าเทียมกัน
สิ่งที่ไม่ควรทำ คือการไปตัดสินเด็กว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดแต่เราควรให้เหตุผลชี้ให้เขาเห็นแล้วให้เขาสรุปตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด
สิ่งที่จะสามารถช่วยในการพัฒนาทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดให้ดีขึ้นได้อีก คือ เวลา หมายถึงการขอเวลาให้คุณครู ได้โฟกัสในสิ่งที่เกี่ยวข้องเฉพาะการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน เพราะทุกวันนี้ตัวครูเองก็ต้องไปทำหน้าที่อย่างอื่นเช่นงานพัสดุที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือเราต้องสนใจมันจนบางครั้งดูเหมือนเราต้องสนใจมันมากกว่างานการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนอีกเพราะมันผิดพลาดไม่ได้แล้วมันมีกฎหมายระเบียบวิธีการใหม่ๆมาตลอดที่เราจะต้องอัพเดทตามและต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ 2 ปีที่ผ่านมาเหมือนมีนโยบายที่จะหาคนมาดูแลเรื่องงานอื่นๆแทนคุณครูแต่ปัจจุบันก็ยังคงเหมือนเดิมครูยังคงต้องมีภาระงานอื่นที่นอกเหนือจากภาระงานสอนและเป็นสิ่งที่สำคัญที่ครูจะต้องทำให้มันถูกต้องซึ่งมันต้องใช้เวลาและใช้พลังในการทำสิ่งเหล่านั้นคงจะดีมากและคงจะดีกว่านี้หากคุณครูไม่ต้องทำสิ่งต่างๆเหล่านั้น

“ตัวคุณครูเองเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุก็จะเหนื่อยกับงานพัสดุคือมันเหนื่อยกับงานพัสดุที่ต้องใช้พลังและเวลาในการทำเยอะมาก มันก็ทำให้เวลาและพลังที่เราจะเอามาคิดกับงานการจัดการเรียนการสอนเด็กมันน้อยลง คือบางครั้งในหัวของครูเนี่ยมีเรื่องของพัสดุมากกว่าเรื่องที่จะมาทำให้เด็กชอบคณิตศาสตร์ นี่มันคืออะไรใช่งานหลักเราไหมเนี่ยบางครั้งก็คิดอย่างนี้คือก็อยากขอเวลา ก็มีคนบอกว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาทำเรื่องพวกนี้ให้ 2 ปีแล้วมันก็ยังเป็นแค่ฝันอยู่ ครูก็ยังฝันต่อไปอยู่ยังไม่เป็นความจริง”

เมื่อได้ฟังเรื่องเล่า 4 ป. จากคุณครูนัส ผู้สัมภาษณ์ก็รู้สึกมีความสุขและมีพลังในการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างบอกไม่ถูก รอยยิ้มและเสียงหัวเราะระหว่างการสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรู้สึกที่วิเศษมากสำหรับตัวผู้สัมภาษณ์เอง ไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อยหรือท้อแท้ในสิ่งที่ทำในสิ่งที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามเรารับรู้ได้ถึงความสุข ความทุ่มเท ความมุ่งมั่น ความจริงใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของทุกภาคส่วน ในการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ของประเทศ เราได้เห็นภาพการปรับการเรียน เปลี่ยนวิธีการสอนของครู เราเห็นภาพความเอาจริงเอาจังหนักแน่นของผู้อำนวยการโรงเรียน เราเห็นภาพความร่วมมือของชุมชนและภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมด้วยช่วยกันจัดการศึกษาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จนเกิดผลลัพธ์ที่ประจักษ์ชัดในตัวของนักเรียน เราเห็นพัฒนาการของนักเรียนทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ  และเจตคติ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่สะท้อนผ่านเรื่องเล่านี้ อย่างน้อยๆ ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเราได้มาถูกทางแล้ว ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลได้เกิดขึ้นแล้ว ณ โรงเรียนบ้านเขาจีน จังหวัดสตูล


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฟารีดา หลังยาหน่าย (สอนประจำชั้น ป.5)
ผู้สัมภาษณ์: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านเขาจีน

Facebook Comments
เสริมพลัง สร้างความเข้าใจ ดึงการมีส่วนร่วม สบน. & TDRI รวมพลังยกระดับการสื่อสารสร้างสรรค์เชิงรุกเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพป.ยะลา เขต 2 สพป.ยะลา เขต 3 สพป.ปัตตานี เขต 3 และ สช.ยะลา นัดหมายและหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมใหม่ในปี 2563
บทความล่าสุด