หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง “MODERN MT Curriculum” เพื่อส่งเสริมการมีงานทำในศตวรรษที่ 21

15 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนแม่แตง เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ ที่จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง โดยยึดหลักหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรของสถานศึกษา และจากการประเมิน สอบถาม สัมภาษณ์การใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตงในปีการศึกษา 2561 จากคณะครู บุคลากร นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียน พบปัญหาของการจัดการศึกษาที่ผ่านมา คือ นักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ปีที่ 6 ไม่ศึกษาต่อมีจำนวนถึงร้อยละ 15 และขาดสมรรถนะการทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ สถานประกอบการไม่ต้องการรับเข้าทำงาน และประกอบอาชีพอิสระไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขาดทักษะที่เป็นพื้นฐานของสมรรถนะในแต่ละอาชีพ ซึ่งจากปัญหาที่พบและจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในเรื่องวิถีการเรียนรู้ การทำงาน และจากนโยบายการเตรียมคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 “Thailand 4.0” ของรัฐบาลนั้น ทำให้โรงเรียนแม่แตงซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา ได้เกิดแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรในการผลิตกำลังคนเพื่อเตรียมพร้อมในโลกอนาคต ภายใต้วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า “ผู้เรียนมีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 รักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาตนสู่เส้นทางการศึกษาและอาชีพ ภายในปีการศึกษา 2565” โดยมีจุดเน้นที่จะสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทาง เน้นการจัดหลักสูตรรายวิชาใหม่ที่รองรับการนำไปสู่การสร้างอาชีพ ทักษะการทำงาน การปรับค่านิยมและภาพลักษณ์ที่ดี จากวิสัยทัศน์นำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐดังที่กล่าวมาแล้ว ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนแม่แตงจึงได้พัฒนาหลักสูตรใน Trend ใหม่ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีทักษะการคิด การทำงาน เป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะ  เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาให้กับนักเรียนได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ และผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์และรองรับการใช้งานอย่างเหมาะสมของคนแต่ละกลุ่ม

หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง MODERN MT Curriculum”

หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง “MODERN MT Curriculum” หมายถึง โรงเรียนแม่แตงได้ดำเนินการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาให้มีลักษณะ NMF : New Modern Flexible ใหม่ ทันสมัย และมีความยืดหยุ่น โดยได้จัดหลักสูตรเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ 1 หลักสูตรการจัดเตรียมพื้นฐานความถนัดในสาขาวิชาชีพในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา รูปแบบที่ 2 หลักสูตรท้องถิ่นบูรณาการ โดยได้ใช้ Theme “วิถีแม่แตง” รูปแบบที่ 3 หลักสูตรสมรรถนะอาชีพระยะสั้นในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รูปแบบที่ 4 หลักสูตรเรียนร่วมอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)

ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตงเพื่อส่งเสริมการมีงานทำในศตวรรษที่ 21 ได้ศึกษาหลักคิด ทฤษฎี และแนวโนโยบายของรัฐมาเป็นแนวทางในการออกแบบ และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของนักการศึกษาหลายท่าน ได้แก่ ไทเลอร์ (Ralph W.Tyler) ทาบา (Hilda Taba) เซเลอร์และ อาเล็กซานเดอร์ (J.Galen Saylor & William M.Alexander) โอลิวา (Peter F.Oliva) วิชัย วงษ์ใหญ่ มาบูรณาการสร้างสรรค์

จากขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรม “หลักสูตรสถานศึกษา MODERN MT Curriculum เพื่อส่งเสริมการมีงานทำในศตวรรษที่ 21” เกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในและนอกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการวางแผน การดำเนินการ การประเมินและการสรุปผล ดังนี้

  • ขั้นตอนการวางแผน วิเคราะห์สภาพปัจจุบันของโรงเรียน ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ร่วมกันวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนงานก่อนดำเนินการ
  • ขั้นตอนดำเนินการ ในกระบวนการดำเนินการใช้หลักการมีส่วนร่วม ดังนั้นทุกขั้นตอน ทุกกิจกรรมที่จัดจึงมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชนและหน่วยงานราชการต่างๆ
  • ขั้นตอนการประเมินและสรุปผล การประเมินนวัตกรรม เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีส่วนให้การประเมินและสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ

ประโยชน์ของหลักสูตรในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพของกลุ่มเป้าหมาย

จากการดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง ในกระบวนการดำเนินการใช้หลักการมีส่วนร่วม ดังนั้นทุกขั้นตอน ทุกกิจกรรมที่จัดจึงมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ชุมชน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทำให้โรงเรียนแม่แตงมีรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาด้วยรูปแบบการพัฒนาร่วมสมัยเพื่อการมีงานทำในศตวรรษที่ 21 โดยโรงเรียนแม่แตงนำไปพัฒนาคุณภาพของกลุ่มเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จดังนี้

  • ด้านนักเรียน นักเรียนโรงเรียนแม่แตงได้รับการพัฒนาให้เกิดความพร้อมในการเข้าสู่การทำงานอาชีพที่ตรงตามความต้องการแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย หรือต่างประเทศในศตวรรษที่ 21ทั้งการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่สถานประกอบการต้องการ ทักษะ ความสามารถในงานอาชีพเฉพาะทาง และการฝึกปฏิบัติที่ต้องไปฝึกในสถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นการฝึกปฏิบัติสภาพเหมือนจริง ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง และเห็นความสำคัญของการทำงาน จนเกิดพฤติกรรมที่ดีต่อการทำงาน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของผู้เรียน ของสถานประกอบการ หน่วยงาน ลดปัญหาการไม่ยอมรับของสถานประกอบการได้
  • ด้านครูผู้สอน บุคลากร ได้รับการพัฒนาในด้านความรู้และทักษะในการสอนรายวิชาตามหลักสูตร และการเกิดแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการสอนและการเรียนรู้ให้กับนักเรียน และมีโอกาสได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ รวมถึงทักษะเฉพาะในการจัดการสอนที่สอดคล้องกับสาขางานอาชีพที่เปิดสอน ทำให้สามารถจัดประสบการณ์ให้นักเรียนในเชิงลึกดียิ่งขึ้น
  • ด้านสถานศึกษา โรงเรียนแม่แตงได้มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานศึกษาเครือข่าย ที่ทำให้โรงเรียนสามารถลดปัญหาและก้าวข้ามขีดจำกัดในการจัดการเรียนการสอน การใช้งบประมาณในการซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ฝึกในราคาสูง และได้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนได้

 


 


ผู้เขียน: มาศชฎา จันทราทิพย์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ดร.ศุจีภรณ์ อาจนาเสียว ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่แตง
ผู้สัมภาษณ์:
มาศชฎา จันทราทิพย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนแม่แตง

Facebook Comments
30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 – 2569
บทความล่าสุด