ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำทัพเดินหน้าขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชิงนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2564

23 กันยายน 2564

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำหนดจัดประชุม ครั้งที่ 2/2564 โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เช่น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะรองประธานกรรมการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการจากสำนักงานปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม,  ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ สบน. ในฐานะรับผิดชอบงานเลขานุการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รวบรวมเอกสารและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สำหรับแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และนำเสนอ (ร่าง) ประกาศ และข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมพิจารณา ดังต่อไปนี้

เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมทราบ

ในการดำเนินการงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. เมื่อวัน 1 พ.ค. 62) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความก้าวหน้าดังต่อไปนี้

1. จากเป้าหมายตามแผนปฏิรูปการศึกษาระยะสั้น (ภายในปี 64) ระบุว่าให้มีนโยบายและกฎระเบียบที่คล่องตัวและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และการบริหารสถานศึกษา อีกทั้งให้มีหลักสูตรสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของชุมชนและพื้นที่ ซึ่งได้มีการดำเนินการการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่เป้าหมาย โดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของพื้นที่ให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและวัดประเมินผลการศึกษาได้เอง โดยกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องการกระจายอำนาจและให้ความอิสระแก่พื้นที่และสถานศึกษานำร่อง อีกทั้ง สพฐ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้จัดทำกฎหมายลำดับรอง กฎ ระเบียบ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ความเห็นชอบ

การดำเนินการที่ผ่านมา ดูรายละเอียดลิงก์ด้านล่างนี้ 

การจัดทํา/คัดเลือก/จัดหา/ใช้ตํารา/สื่อการเรียนการสอน
ความอิสระในการเลือกใช้หลักสูตร
เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 – 2569

ระเบียบ/ประกาศ

การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
การเทียบโอนผลการเรียน
การรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค

2. การวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษานำร่องที่ยืนยันเข้าร่วมโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งสิ้นจำนวน 265 โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ย. 64) แบ่งออกเป็น โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 226 โรงเรียน สังกัด สช. จำนวน 17 โรงเรียน และ สังกัด อปท. จำนวน 22 โรงเรียน ( ดูรายละเอียดคลิกลิงก์นี้ )

ซึ่ง รศ.ทิศนา แขมมณี ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ได้จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช … ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1 – ป.3) และคู่มือการใช้เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดตามภาพ

ในการวิจัยกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้มีกำหนดวัตถุประสงค์ คือ

    1. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมที่มีต่อคู่มือการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. สำหรับช่วงชั้นที่ 1
    2. เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาและใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
    3. เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาระบบและการบริหารจัดการปัจจัยด้านบุคลากร การบริหารจัดการหลักสูตร และการประกันคุณภาพการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
    4. เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช…. สำหรับช่วงชั้นที่ 1 การพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการหลักสูตร และการประกันคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

3. ผลการจัดเสวนา “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้” บทเรียนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล เผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของกรณีศึกษา 3 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล)

รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
รับชมย้อนหลังบทเรียน กรณีศึกษาจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

4. ผลการดำเนินงานด้านวิชาการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด

จังหวัดศรีสะเกษ
    1. จังหวัดมีโจทย์ยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด
    2. การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็น 1 ใน 9 ประเด็นพิเศษของจังหวัด
    3. ในระยะ 3 ปี ของการขับเคลื่อน มีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีจำนวนโรงเรียนนำร่องเพิ่มขึ้นทุกปี/มีการเพิ่มคุณภาพโดยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning/มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะมีการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
    4. การจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
    5. การประเมินผลแบบบูรณาการ นักเรียนทำงาน 1 งาน โดยประเมินได้หลายวิชา
จังหวัดกาญจนบุรี
    1. มีการขยายผลนวัตกรรมสู่การเชื่อมโยงกับหลักสูตรอาชีวศึกษา
    2. จัดทำกลยุทธ์ที่มีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น
    3. ตอบโจทย์ความต้องการทางเศรษฐกิจลดปัญหาสังคม
    4. มีกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ คุณธรรม ภาษา และทักษะอาชีพ
    5. ร่วมกับมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ในเรื่องของธุรกิจการค้าปลีก
    6. มีการจัดทำหลักสูตรในแต่ละปี มีความยืดหยุ่นปรับได้ตลอดเวลา มีนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย
    7. ใช้หลักสูตรที่ตรงตามสมรรถนะของผู้เรียนอย่างแท้จริง ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมจัดการเรียนรู้และการประเมินผล
    8. มีนวัตกรรมในแต่ละโรงที่เชื่อมโยงสู่เป้าหมายของการเป็นสถานประกอบการ
    9. ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยคัดเลือกครูที่มีความสามารถในแต่ละกลุ่มสาระวิชาให้ครูจัดทำคลิปแล้วอัพโหลดเป็นคลังความรู้
จังหวัดระยอง
    1. จังหวัดระยองได้ประกาศเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (EEC : EASTERN ECONOMIC CORRIDOR) และมีการใช้หลักสูตร RAYONG MARCO
    2. จังหวัดระยอง มีจุดเด่นชัดในเรื่องพลังความร่วมมือต่อการจัดการศึกษา เป็นระบบครบถ้วน ตั้งแต่หลักสูตร จนกระทั่งการวัดและประเมินผล
    3. จังหวัดระยองมีศักยภาพที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดอื่น
    4. มีระบบ PLC และมีฐานความรู้พอสมควร สามารถพัฒนาต่อยอดได้โดยการดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วน
    5. การจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
    6. การประเมินผลแบบบูรณาการ นักเรียนทำงาน 1 งาน โดยประเมินได้หลายวิชา
    7. การใช้การเรียนรู้แบบใช้ online course : MOOCS
จังหวัดเชียงใหม่
    1. จังหวัดเชียงใหม่ได้สร้างกลไกในการดำเนินงานโดยการสร้างสังคม/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยการพัฒนา(PLCD)
    2. มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วน
    3. มีหลักการทำงานโดยใช้งานวิจัยเป็นฐานในการปฏิบัติการ
    4. มีจำนวนโรงเรียนนำร่องเพิ่มขึ้นทุกปี
    5. มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานหรือเรียกว่าทวิพหุภาษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
    6. การจัดการเรียนการสอนโดยนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานหรือเรียกว่าทวิพหุภาษาบูรณาการสาระวิชาหลายวิชา
จังหวัดสตูล
    1. มีการปรับการเรียนการสอนเป็นเชิงบูรณาการมากกว่า 10 ปี มีการออกแบบ ปรับจาก 10 สมรรถนะ ของ สมศ. และท้ายที่สุดหลอมรวมเหลือ 5 สมรรถนะ
    2. ใช้โครงงานฐานวิจัย ออกแบบ model ครูสามเส้า 8,700 ชั่วโมง
    3. มีการวัดประเมินผลที่ตอบโจทย์ฐานสมรรถนะ
    4. ใช้ฐานการเรียนรู้จากที่บ้านของนักเรียน เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน
จังหวัดปัตตานี
    1. มีการขับเคลื่อนโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด คือ “มุ่งสู่ความเป็น Smart People Smart City”
    2. การจัดทำหลักสูตร Pattani Herritage
      1) จัดทำโมดูลการเรียนรู้โดยใช้บริบทพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีเป็นแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มเติมตามบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา
      2) ปรับใช้ตัวชี้วัดโดยวิเคราะห์รวบรวมและสังเคราะห์ หรือคงตัวชี้วัดบางตัวไว้ตามแนวทางสถานศึกษา รวมถึงการจัดชั่วโมงภายใต้กรอบมาตรฐานกลุ่มสาระวิชาและตามระดับชั้น
      3) พัฒนาหลักสูตรโดยใช้แนวทางปฏิบัติในการเลือกใช้หลักสูตรตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ตามหลักสูตรประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2
    3. การพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผ่านการดำเนินการ 5 ขั้นตอน คือ
      1) การกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน
      2) การกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
      3) การสร้างความร่วมมือ
      4) การขับเคลื่อนความร่วมมือ
      5) ร่วมกันประเมินผลและทบทวนเป้าหมาย
    4. การเลือกใช้หลักสูตรที่เน้นความเป็นท้องถิ่นจากชุมชนสู่สากล สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีปรับไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ครอบคลุมในด้านของความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ
จังหวัดยะลา
    1. มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
      1) ขับเคลื่อนโดยโรงเรียนและชุมชน (micro)
      2) จิตวิญญาณความเป็นครู (macro)
      3) สร้างกลไกความร่วมมือ (critical mass)
      4) กลไก 3 ระดับ ได้แก่ นโยบาย พื้นที่ และโรงเรียนร่วมกับชุมชน
      5) ความเป็นสากล พหุภาษา สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เก็บรักษา ภูมิปัญญา สร้างกระบวนการคิดการทำงาน รวมถึงการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร
    2. มีระบบการพัฒนาครู และพัฒนาผู้เรียนโดยใช้ฐานคิดด้านพหุภาษา พหุวัฒนธรรม
จังหวัดนราธิวาส
    1. การสร้างความหมายใหม่และบทบาทใหม่ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของพื้นที่อย่างยั่งยืนจัดทำโมเดลเนื้อหาความรู้ ประกอบด้วย
      1) เนื้อหาชีวิต ซึ่งเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม
      2) ทักษะชีวิตที่จำเป็นในยุค new normal
      3) วิชาหลักที่จำเป็นต้องเรียนรู้รวมถึงความสามารถในส่วนของ 3R8C
    2. มีหลักสูตรที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จำนวน 20 หลักสูตร จากสถานศึกษานำร่อง 20 แห่ง
    3. มีการจัดอบรมครูและผู้บริหารสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการสอนในสถานการณ์โรคระบาดสำหรับนักเรียนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทางเลือก คือ การสอนในแบบออนไลน์ และแบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual Classroom)
    4. มีการพัฒนาเครื่องมือนิเทศ ติดตามและประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานศึกษาของแต่ละระดับชั้นและรายวิชาที่ต่างกันออกไป ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย
    5. แนวทางการพัฒนาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
      1) การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้
      2) จัดสาระการเรียนรู้ให้หลากหลาย สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และสภาพภูมิสังคม
      3) การนำหลักสูตรนำไปสู่การปฏิบัติ ลดความจำเป็นของการใช้แบบทดสอบแบบเลือกตอบ จนไปถึงการเลิกใช้
      4) เปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่
      5) เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ตามความต้องการและเสรี
เรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา

การประชุมวันนี้ได้มีการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ/ข้อเสนอ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. …

เพื่อให้มีการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยสาระสำคัญ คือ จะมีการแต่งตั้งผู้ประเมินอิสระเป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุก 3 ปี โดยใช้กระบวนการประเมินเชิงพัฒนา DE เพื่อพัฒนาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่คณะผู้ประเมินอิสระเห็นว่าผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ได้ ให้คณะผู้ประเมินอิสระเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายให้มีการยุบเลิกพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้นได้ ทั้งนี้การประเมินยังคงวัตถุประสงค์ คือเพื่อมุ่งให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการประเมิน 5 ประการดังนี้
(1) เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา การบริหารจัดการในด้านการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง และการสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(2) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางและปรับปรุงการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(3) เพื่อถอดบทเรียนในการดำเนินงานและการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งบทเรียนในการดำเนินงานของสถานศึกษานำร่อง และบทเรียนในการบริหารจัดการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละพื้นที่
(4) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
(5) เพื่อขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐและของเอกชน

2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินงานในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …

เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายดำเนินการในการจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่อง สังกัด สพฐ. ซึ่งประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้นำเสนอที่มาของร่างประกาศ โดยเน้นย้ำที่จะพยายามทำให้สูตรจัดสรรเงินครั้งนี้ ให้ดูเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนแต่ให้ครอบคลุมตัวแปรที่หลากหลาย มุ่งให้เกิดการจัดสรรที่ลดความเหลื่อมล้ำในด้านงบประมาณ เช่น ตัวแปรด้านภูมิศาสตร์ ด้านขนาดโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ประธานในที่ประชุม ยังได้ขอให้ดูคำนิยามของถ้อยคำต่าง ๆ ให้ถูกต้องชัดเจน ตามที่ประชุมได้เสนอมา โดยเฉพาะคำว่าเงินอุดหนุนทั่วไป ขอบเขตการใช้จ่ายจะได้ขนาดไหน เป็นอย่างไร ขอให้ทำให้ชัดเจนเพื่อลดหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคต อย่างเช่น กรณีที่เคยมีปรากฏให้เห็นเป็นกรณีศึกษามาแล้ว ในวาระนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการสูตรจัดสรรฯ ตามที่ฝ่ายเลขาได้นำเสนอ ซึ่งหากสูตรจัดสรรนี้ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ ก็จะช่วยให้สถานศึกษาได้มีงบประมาณรายหัวมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขยายผลในเชิงนโยบายและนำไปใช้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่นต่อไป

3. (ร่าง) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อ ก.ค.ศ. 

เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎ ก.ค.ศ. หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขสำหรับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เกิดความเหมาะสมกับการบริหารงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้ง อ.ก.ค.ศ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่อง สำหรับการคัดเลือก ตัวอย่างเช่น ภาค ค. ให้คณะกรรมการประเมินจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหรือที่แต่งตั้ง การบรรจุแต่งตั้ง ตัวอย่าง เช่น การกันอัตราครูจากนักเรียนที่รับกองทุนต่าง ๆ หรือจากครูในพื้นที่เพื่อป้องกันการย้ายกลับภูมิลำเนา และการโยกย้าย ให้มีคณะกรรมการประเมินจากคณะกรรมการขับเคลื่อนหรือที่แต่งตั้งด้วย

ก่อนปิดการประชุมประธานในที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะขอนัดหมายประชุมคราวต่อไปเร็วขึ้นกว่ารอบการประชุมปกติ เพื่อติดตามงานและพิจารณางานที่มอบหมาย ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อได้ไม่สะดุด ที่ประชุมรับทราบและยินดี

ติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน Facebook
เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Facebook


ผู้เขียน:
อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, อิศรา โสทธิสงค์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
“ปลูกได้ ขายเป็น เน้นพอเพียง” เรียนรู้โลกต้นอ่อนของทานตะวันของโรงเรียนวัดสุขไพรวัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยองสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ชวนดูย้อนหลัง “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคมไทยสังคมโลก” จากเวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564
บทความล่าสุด